กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--สนพ.
โครงการธนาคารขยะบนพื้นที่ทรัพย์สินฯ สุดเวิร์ค ชาวชุมชนร่วมใจคัดแยกขยะนำมาขายธนาคาร 17 เดือน ลดขยะได้ 321 ตัน ลดค่าใช้จ่ายรัฐในการกำจัดขยะ 4.8 แสนบาท
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การนำของที่ใช้แล้วแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) มีส่วนช่วยประหยัดพลังงาน มากกว่าการเริ่มต้นผลิตใหม่ ยกตัวอย่างเช่น ในการผลิตกระดาษใหม่ 1 ตัน ต้องใช้น้ำมัน 31,500 ลิตร ใช้ไฟฟ้า 4,100 หน่วย และใช้ต้นไม้ใหญ่ 17 ต้น ส่วนการรีไซเคิลกระดาษแต่ละตันจะช่วยลดการตัดต้นไม้ 17 ต้น และใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตกระดาษใหม่ถึง 60% เป็นต้น ดังนั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนให้ มูลนิธิสถาบันพัฒนาชุมชนเมือง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดทำโครงการธนาคารวัสดุหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ (ธนาคารขยะ) จำนวน 50 แห่ง และศูนย์เผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม 12 แห่ง บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อให้เยาวชนและชุมชนได้รับความรู้ และเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ส่งผลให้เกิดแนวคิดที่ดีต่อการจัดการขยะ ลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอย ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะได้ 6 พันตันต่อปี ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะของหน่วยงานรัฐได้อย่างน้อยปีละ 4 ล้านบาท โดยเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546
ศูนย์เผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการในลักษณะห้องสมุดชุมชน มีหนังสือให้บริการหลากหลายประเภท โดยเฉพาะหนังสือสาระน่ารู้ โปสเตอร์ และเกมส์เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ที่อยู่ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างช่วงวันเสาร์ — อาทิตย์ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ และการประกวดภาพวาดที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น โดยปัจจุบันศูนย์ฯ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว 11 แห่ง ในพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตราชเทวี เขตวังทองหลาง เขตดุสิต และเขตบางคอแหลม
ส่วนธนาคารขยะ มีหน้าที่ส่งเสริมให้เยาวชนและชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน โดยการคัดแยกขยะ และนำสิ่งของที่เหลือใช้มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินฝากกับธนาคาร ทั้งนี้เพื่อช่วยลดปริมาณขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนให้ดีขึ้น โดยปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างธนาคารขยะแล้วเสร็จ 40 แห่ง และเปิดรับซื้อขยะแล้วใน 31 ชุมชน ได้แก่ วัดประชาระบือธรรม 3 ท่าน้ำสามเสน ตระกูลดิษฐ์ วัดน้อยนพคุณ หน้าวัดมะกอก สมประสงค์ 5 สุขสันต์ 2 ซอยร่วมฤดี หลังสามร้อยห้อง บ้านขิงเลียบคลองภาษีเจริญ บึงพระราม 9 พัฒนา บึงพระราม 9 บ่อ 3 คลองไผ่สิงโต วัดครุฑ หมู่บ้านพลับพลา 30 ไร่ หมู่บ้านพลับพลา 46 ไร่ น้อมเกล้า เทพลีลา รุ่งมณีพัฒนา ร่วมสามัคคี หลังตลาดเก่าวัดพระยาไกร ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง สุโขทัย 9 พระเจน นิคมทวีสุข ทรัพย์สินเก่า เก้าพัฒนา เกาะกลาง หลังวัดปทุมวนาราม โรงแก้ว บางคอแหลม โดยมีขยะที่รับฝากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 — พฤศจิกายน 2547 ประมาณ 321 ตัน คิดเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทกระดาษและแก้ว สามารถลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการจัดการขยะมูลฝอยได้แล้วไม่ต่ำกว่า 4.8 แสนบาท
“การดำเนินโครงการธนาคารขยะและศูนย์เผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนี้ ช่วยก่อให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจชุมชน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีความรู้สึกรักและหวงแหนชุมชน รวมทั้งเป็นการช่วยรณรงค์ลดการใช้พลังงานทางอ้อม นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพ และการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อนำพาสู่การเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนที่พึ่งตัวเอง ชุมชนที่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตของขยะและพลังงานได้” นายเมตตากล่าว--จบ--