เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน 2564 นายวรนัฐ ติรประเสริฐสิน พัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา มอบหมายให้นางสรัลนุช โพธิ์ชัยโย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางอาภร โพธิ์เจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนายเนตร ขันคำ พัฒนาการอำเภอบางคล้า และทีมงานสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า เสริมพลังทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลเสม็ดใต้ ขับเคลื่อนการดำเนินงาน "เสม็ดใต้ปันสุข" ภายใต้โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีนางสาวน้ำผึ้ง คำสะอาด กำนันตำบลเสม็ดใต้ ดร. กิตติพงษ์ สีเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล และประชาชนในตำบลเสม็ดใต้ เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ บริเวณริมคลองชลประทาน ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
นายเนตร ขันคำ พัฒนาการอำเภอบางคล้า เปิดเผยว่า โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นโครงการที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างผู้นำชุมชน โดยพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับต่าง ๆ ให้ผู้นำชุมชนมีความรู้คู่คุณธรรม สามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเองได้ และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้นำชุมชนให้สามารถบูรณาการงานพัฒนาชุมชนนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ โดยใช้พลังชุมชนในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ในสภาวการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการดำเนินกิจกรรม "เสม็ดใต้ปันสุข" ก่อให้กระบวนการ 3 สร้าง ได้แก่ 1) สร้างความมั่นคงทางอาหาร 2) สร้างสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และ 3) สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน ประกอบด้วย
กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยการเต้นประกอบดนตรี เป็นการสร้างความสนุกสนานสามัคคีของสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
กิจกรรมที่ 2 เปิดตู้ "เสม็ดใต้ ปันสุข" โดยมีสมาชิกในหมู่บ้านได้นำพืชผักสวนครัว ผลไม้ ในบ้านมาเติมในตู้เพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยน นอกจากนี้ยังมีข้าวสาร อาหารแห้ง ขนม น้ำดื่ม และเมล็ดพันธุ์ผัก
กิจกรรมที่ 3 ธนาคารเมล็ดพันธุ์ เพื่อแบ่งปันเมล็ดพันธ์ผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ ให้สมาชิกนำไปปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์ขยายผลให้กับครัวเรือนอื่นๆ ต่อไป
กิจกรรมที่ 4 พัฒนาถนนเสม็ดใต้ปันสุข โดยใช้พื้นที่ริมคลองชลประทานและทั้งบริเวณหน้าบ้านของประชาชน ด้วยระยะทางมากกว่า 1 กิโลเมตร เน้นให้ทุกครัวเรือนที่มีหน้าบ้านติดริมคลองปลูกพืชผักสวนครัว และไม้ผล เช่น กะเพรา โหรพา ยี่หร่า พริก มะเขือ สะระแหน่ ถั่วฝักยาว แมงลัก ชะอม ต้นแค มะละกอ ฯลฯ ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ที่รับผิดชอบให้ทุกหมู่บ้านได้มีพื้นที่รับผิดชอบดูแลพืชผัก เพื่อเป็นถนนปันสุข เป็นแหล่งอาหาร สำหรับผู้ที่ผ่านไปมา สามารถนำไปประกอบอาหารในครัวเรือนได้ และได้มีการนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่เกิดจากความสามารถและต้นแบบของนวัตกรรมของชุมชน เพื่อใช้ในการรดน้ำพืชผัก เพื่ออำนวยความสะดวกใช้เวลาไม่มากและผ่อนแรงสำหรับผู้สูงอายุ
กิจกรรมที่ 5 สะพานปันสุข โดยร่วมกันล้างทำความสะอาดสะพานข้ามคลอง เพื่อใช้เป็นจุดเสริมสร้างภาพลักษณ์ของชุมชน
กิจกรรมที่ 6 จัดกิจกรรม Focus Group ทีมผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อสรุปผลการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมา และร่วมกันวางแผนการขับเคลื่อนงานต่อไป
ทั้งนี้ โครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นโครงการที่เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชนอย่างแท้จริง เป็นการกระตุ้นและแสดงพลังของผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ โดยนำความรู้ความสามารถ และแนวทางการดำเนินชีวิตมาใช้เป็นต้นแบบให้แก่คนในชุมชน ต่อการแก้ไขปัญหาด้านอาหารของพี่น้องประชาชนในชุมชน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับต่างๆ ให้ผู้นำชุมชนมีความรู้ คู่คุณธรรม สามารถบริหารจัดการชุมชนของตนเอง เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น Change for Good สร้างชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แก่พี่น้องประชาชน ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน ต่อการขับเคลื่อนกิจกรรม "เสม็ดใต้ปันสุข" เพื่อลดรายจ่าย ลดค่าครองชีพ และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ในภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่นนี้ ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงเป็นตำบลที่มีการขานรับและขับเคลื่อนนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน ได้เป็นอย่างดี หมู่บ้านมีการปรับตัวภายใต้สภาวะการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้คนในหมู่บ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ และขยายผลไปอีกทั้ง 6 หมู่บ้านในเขตตำบล และผู้นำการเปลี่ยนแปลงยังมีการใช้พื้นที่ว่างบริเวณถนนริมคลองชลประทาน ปลูกผักสวนครัวเพื่อเป็นคลังอาหาร ที่เรียกว่า ถนนปันสุข สำหรับคนในทุกหมู่บ้านในตำบล และสามารถแบ่งปันให้กับตำบลอื่นๆ หรือคนที่ผ่านไปมาตลอดระยะทางมากกว่า 1 กิโลเมตร รวมถึงยังมีการบริหารจัดการขยะด้วยแนวคิด 3R (Reduce - ลดการใช้, Reuse - นำกลับมาใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีก, Recycle - นำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้ แอปพลิเคชัน "คุ้มค่า" (KoomKah) เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการขยะในการดำเนินการธนาคารขยะ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือมือใจ ภายใต้ Motto "ลูกหลวงพ่อโสธร ไปด้วยกัน ไปได้ไกล"