ความหวังใหม่สู้ภัยไข้เลือดออก เปลี่ยนยุงลายตัวร้ายให้กลายเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตด้วยเชื้อวูลบัคเคีย

ข่าวทั่วไป Tuesday June 15, 2021 16:25 —ThaiPR.net

ความหวังใหม่สู้ภัยไข้เลือดออก เปลี่ยนยุงลายตัวร้ายให้กลายเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตด้วยเชื้อวูลบัคเคีย

โครงการยุงโลก (The World of Mosquito Program) จากมหาวิทยาลัยโมนาชประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยกัดจะห์ มาดะ และมูลนิธิทาห์เจีย ประเทศอินโดนิเซีย เปิดเผยผลการทดลองอันน่าทึ่งที่บ่งชี้ว่ายุงลายที่ได้รับการตกแต่งพันธุกรรมเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคีย (Wolbachia,wMel) สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทดลองปล่อยยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trial) ในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้มากถึงร้อยละ 77 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลยังลดลงกว่าร้อยละ 86 อีกด้วย การทดลองในครั้งนี้นับว่าเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่ช่วยเพิ่มความหวังในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเขตร้อนทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

การทดลอง Applying Wolbachia to Eliminate Dengue (AWED) มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะทดสอบว่าการปล่อยยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) ที่มีเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคียเข้าไปในประชากรยุงลายบ้านตามธรรมชาติ จะสามารถช่วยลดจำนวนการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกของประชาชนอายุ 3-45 ปีในเมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียได้หรือไม่ โดยหลังจากที่นักวิจัยเริ่มทำการทดลองมามากกว่า 3 ปี พบว่าประชากรยุงลายส่วนใหญ๋ในเมืองยอกยาการ์ยังคงมีเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคีย และในขณะนี้ได้มีการขยายผลการทดลองปล่อยยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียไปในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อหวังลดจำนวนการติดเชื้อไข้เลือดออก จนครอบคลุมประชากรชาวอินโดนีเซียกว่า 2.5 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไข้เลือดออกในไทยยังระบาดหนัก
ไข้เลือดออกนับเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่เกิดจากยุงที่มีการแพร่ระบาดรวดเร็วที่สุดในโลก โดยมีประชากรโลกมากกว่า 50 ล้านคนติดเชื้อไข้เลือดออกทุกปี รายงานล่าสุดจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้เลือดออกยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มียอดผู้ติดเชื้อเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559-2563 มากกว่า 60,000 รายทุกปี และในปีนี้ มีรายงานผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันกว่า 25,708 รายเป็นที่เรียบร้อย โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 15 ราย และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ศ.คลินิก พญ.ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก) กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านโรคไข้เลือดออก เปิดเผยความตื่นเต้นว่า"ผลการทดลองใช้ยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียน่าทึ่งมาก เพราะนี่หมายถึงอนาคตที่สดใสในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

วูลบัคเคียช่วยยับยั้งไข้เลือดออก
ผลการทดลอง AWED สอดคล้องกับผลการทดลองแนะนำยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียเข้าสู่ประชากรยุงลายตามธรรมชาติในการทดลองอื่น ๆ นอกจากนี้ผลการทดลองยังพิสูจน์ว่าแบคทีเรียวูลบัคเคียมีประสิทธิภาพในการยับยั้งโรคติดต่อที่เกิดจากยุงโรคอีกหลายโรค เช่น โรคไข้ซิกา โรคชิคุนกุนยา โรคไข้เหลือง เป็นต้น

ศาสตราจารย์คาเมรอน ซิมมอนส์ ผู้จัยร่วมในโครงการ AMED จากมหาวิทยาลัยโมนาช เชื่อว่า "การทดลองในครั้งนี้นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้เราเห็นแล้วว่า แบคทีเรีย วูลบัคเคีย เป็นวิธีการยับยั้งการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกที่โลกของเรากำลังต้องการ เพราะวิธีนี้ทั้งปลอดภัย ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ" ผลการศึกษาในครั้งนี้ตอกย้ำว่าการใช้ยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียเป็นวิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพในชุมชนเมือง

ศาสตราจารย์สก็อต โอนีล ผู้อำนวยการโครงการยุงโลก กล่าวว่า "ผลการศึกษาที่ช่วยยืนยันว่าการใช้แบคทีเรียวูลบัคเคียในการควบคุมการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกนั้น ปลอดภัย ยังยืน และลดอัตราการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกได้อย่างมีนัยสำคัญเป็นสิ่งที่เราเฝ้ารอมาตลอด และวันนี้เรามีความมั่นใจแล้วว่าวิธีนี้จะสามารถใช้ลดความเสี่ยงการติดเชื้อไข้เลือดออกในพื้นที่ที่ต้องการทั่วโลกได้อย่างแพร่หลาย โดยไม่ต้องกังวล"

ศาสตราจารย์คาเมรอน ซิมมอนส์ ศาสตราจารย์สก็อต โอนีล ศาสตราจารย์อาดิ อุตารินี ศาสตราจารย์อาดิ อุตารินี ผู้วิจัยร่วมในโครงการ AMED จากมหาวิทยาลัยกัดจะห์ มาดะ เสริมว่า "เราคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำวิธีนี้ไปใช้ควบคุมโรคไข้เลือดออกในเมืองอื่น ๆ นอกจากยอกยาการ์ตา และเราเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากการติดเชื้อไข้เลือดออกได้อย่างแน่นอน"

อนาคตของการใช้ยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียในการยับยั้งไข้เลือดออก
องค์การอนามัยโลกรับรองว่าการใช้ยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียในการยับยั้งไข้เลือดออกทั่วโลกมีความเป็นไปได้ คณะที่ปรึกษา Vector Control Advisory Group ยังให้ความเห็นว่า "วิธีวูลบัคเคียได้สร้างประโยชน์แก่แวดวงสาธาณสุขในการสู้ภัยไข้เลือดออก"

ผลการทดลองครั้งนี้มีความหมายสำหรับประชากรโลกกว่าร้อยละ 40 ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไข้เลือดออก โครงการยุงโลกมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลในระดับชาติและระดับชุมชน กิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ องค์กรเพื่อการกุศล และองค์กรไม่แสวงผลกำไรในการขยายผลการทดลองใช้ยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียในการยับยั้งไข้เลือดออกทั่วโลก จนถึงปัจจุบันองค์กรยุงโลกได้ขับเคลื่อนให้มีการปล่อยยุงลายที่มีเชื้อวูลบัคเคียใน 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ออสเตรเลีย และละตินอเมริกา โดยคาดว่าสามารถช่วยประชากรโลกกว่า 6.8 ล้านคนให้ปลอดภัยจากไข้เลือดออกได้เป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ นอกจากจะมีการเผยแพร่ผลการทดลองครั้งนี้ใน New England Journal of Medicine แล้ว โครงการยุงโลกยังได้จัดทำคลิปวีดีโอ และแอนิเมชัน ให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการการทดลอง ผลการทดลอง และโอกาสในการขยายผลการทดลองนี้เพื่อจัดการกับปัญหาไข้เลือดออกในอนาคตอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ