"EE" ส่อเพิ่มทุน หวังระดมทุน รุกลงทุนพัฒนาธุรกิจกัญชงต่อยอดเกษตรครบวงจร หลังผลศึกษาชี้ชัดเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่จะสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตในระยะยาว
น.ส. วราภรณ์ สุพฤกษาสกุล กรรมการ และผู้รับผิดชอบดูแลฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากฝ่ายบริหารได้เล็งเห็นถึงโอกาสความเป็นไปได้ในธุรกิจด้านการเกษตร (Agricultural Business) ที่มุ่งเน้นด้านการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และธุรกิจการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ
รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษา การพัฒนา การเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป ไปจนถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชา และ/หรือกัญชง ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 เป็นต้นมา
น.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า จากการศึกษาเบื้องต้น บริษัทฯจะเน้นให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชงเป็นหลัก เพราะเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่กัญชง จะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ของประเทศไทยในอนาคต ที่จะช่วยเพิ่มรายได้และกำไรให้แก่ผู้ปลูกในระยะยาว เนื่องจากส่วนประกอบของกัญชงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ตั้งแต่ช่อดอก ใบ เมล็ด เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้านและราก
โดยส่วนประกอบทั้งหมดที่กล่าวมานั้น สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ อาหารเสริม เครื่องสำอาง โดยใช้สารสกัด CBD จากช่อดอก น้ำมัน และโปรตีนจากเมล็ดซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้กับกัญชงอย่างมาก อีกทั้งยังมีความต้องการจากตลาดสูงทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้เส้นใยและส่วนอื่นของกัญชงยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ อาหารสัตว์ พลังงาน และปุ๋ย ที่มีมูลค่าสูงเช่นกัน
ด้วยเหตุผลที่กล่าวข้างต้น คณะกรรมบริษัทจึงมีมติพิจารณามอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารดำเนินการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยและพัฒนา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่ปรึกษาด้านการเงิน และที่ปรึกษาใดๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าศึกษาโอกาสทางธุรกิจด้านการเกษตร (Agricultural Business) ที่มุ่งเน้นด้านการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม และธุรกิจการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ รวมถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว
น.ส.วราภรณ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจกัญชงอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นบริษัทมีโอกาสที่จะพิจารณาแผนการเพิ่มทุน เพื่อรองรับแผนการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจใหม่ และต่อยอดธุรกิจด้านการเกษตร ตามผลการศึกษาเบื้องต้นดังกล่าว