นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 3/2564 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบ Zoom Cloud meeting โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าเกษตร โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าเกษตร พ.ศ. 2552 เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการสามารถเข้าใจได้ง่าย และไม่เกิดความสับสน 2. กำหนดค่าธรรมเนียม ดังนี้ ใบอนุญาตตามมาตรา 20 ได้แก่ บุคคลธรรมดา ฉบับละ 100 บาท นิติบุคคล ฉบับละ 1,000 บาท ใบอนุญาตตามมาตรา 33 ฉบับละ 5,000 บาท และการต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา 20 กรณีนิติบุคคล (500 บาท) หรือใบอนุญาตตามมาตรา 33 (2,500 บาท) ครั้งละกึ่งหนึ่ง ของคาธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น และ 3. ยกเว้นค่าธรรมเนียม ได้แก่ ใบแทนใบอนุญาตตามมาตรา 20 (ฉบับเดิม 50 บาท) ใบแทนใบอนุญาตตามมาตรา 33 (ฉบับเดิม 50 บาท) และการต่ออายุใบอนุญาตตามมาตรา 20 กรณีบุคคลธรรมดา (ฉบับเดิม 50 บาท)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อดำเนินการประกาศ เป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.เห็ดหอมแห้ง 2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับปาล์มน้ำมัน 3.การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าวและโรงปรับปรุงสภาพข้าว 4.หลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร: การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี และ 5.ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมและแนวทางการนำไปใช้
สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 5 เรื่อง คือ
1.เห็ดหอมแห้ง เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานโดยเฉพาะที่ใช้บ่งชี้ระดับความปลอดภัยและคุณภาพของเห็ดหอมแห้งได้ ดังนั้น เพื่อให้มีเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานสำหรับเห็ดหอมแห้งที่จำหน่ายในประเทศไทย เป็นแนวทางตรวจสอบคุณภาพเห็ดหอมแห้งนำเข้า และยกระดับการแปรรูปเห็ดหอมของไทยให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานคุณภาพ รวมถึงเพื่อใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงทางการค้า
2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันผู้นำเข้าน้ำมันปาล์ม กำหนดเงื่อนไขในการผลิตปาล์มน้ำมัน โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยอาหาร สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในการผลิตมากขึ้น รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ กำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ (ปี 2561-2580) โดยให้ทบทวนมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันให้เป็นปัจจุบันและให้เหมาะสมในการนำไปปฏิบัติ
3.การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าวและโรงปรับปรุงสภาพข้าว (ทบทวน) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล General Principles of Food Hygiene สถานการณ์การผลิต เทคโนโลยีการผลิตและการค้าในปัจจุบัน และขยายขอบข่ายให้ครอบคลุมถึงโรงปรับปรุงสภาพข้าว คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรจึงเห็นควรให้แก้ไขปรับปรุงมาตรฐานเพื่อให้เป็นแนวทางในการพัฒนาการผลิตสินค้าข้าวให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
4.หลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร: การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี
5.ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมและแนวทางการนำไปใช้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการโคเด็กซ์ (Codex Alimentarius Commission) ครั้งที่ 43 ได้ทบทวนมาตรฐานหลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหาร ที่เกี่ยวกับความตระหนักของผู้ประกอบการอาหารเกี่ยวกับอันตราย และมาตรการควบคุมเพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค การกำหนดการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีที่ต้องการความเอาใจใส่มากขึ้น และการเพิ่มเติมข้อกำหนด เกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ดังนั้นคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรจึงเห็นควรทบทวน มกษ. 9023-2550 เพื่อให้มีเนื้อหาสาระสำคัญเป็นไปตามมาตรฐานโคเด็กซ์ฉบับปรับปรุง
"ขณะนี้อยู่ในช่วงวิกฤตโรคระบาด ทั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการระบาดของโรคลัมปี สกิน จากเชื้อไวรัสในโค - กระบือ ซึ่งเมื่อผ่านช่วงเวลานี้ไป มาตรฐานสินค้าเกษตรจะมีความสำคัญมากขึ้น จึงได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการกำหนดมาตรฐานให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค"รมช.ประภัตร กล่าว