เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 นายธีระพล สุ่มมาตย์ ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) รักษาราชการแทน นายอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นธานในกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา พช." ณ แปลงของนายภัทรพล แม้นประสิทธิ์ หมู่ที่ 3 ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า โดยมี นางสรัลนุช โพธิ์ไชยโย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย นายเนตร ขันคำ พัฒนาการอำเภอบางคล้า ทีมงานสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า ผู้นำการเปลี่ยนแปลง และประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ตำบลเสม็ดใต้เข้าร่วมในกิจกรรมฯ
นายธีระพล สุ่มมาตย์ ปลัดอำเภอบางคล้า กล่าวว่า "พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน ให้หน่วยพระราชทาน ร่วมกับประชาชนจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ได้ร่วมกันสร้างคุณความดี โดยเต็มใจช่วยเหลือผู้อื่น ยอมเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ และสติปัญญาในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติที่มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน อีกทั้งกิจกรรมในครั้งนี้ยังเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้เอาชนะวิกฤต พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า วิถีวัฒนธรรม ผ่านกลไกการสร้างความสามัคคีโดยการใช้จิตอาสาพัฒนาชุมชน
โดยกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา พช." ในครั้งนี้ อำเภอบางคล้า ได้รับแรงสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า และเหล่าประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ตำบลเสม็ดใต้ ในพื้นที่แปลงของนายภัทรพล แม้นประสิทธิ์ ในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า ขนาด 3 ไร่ โดยกิจกรรมเป็นทั้งการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความสมบูรณ์ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ประกอบกับสร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชน คือ
"ขอขอบคุณทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันบูรณาการความร่วมมือเพื่อสานต่อแนวพระราชดำริ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ด้วยความมีจิตอาสาในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นของตนเอง เชื่อมั่นว่าในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในงานพัฒนาชุมชน และ "โคก หนอง นา พช." ของอำเภอบางคล้า ที่มีกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกลไกบ่มเพาะสัมมาชีพชุมชน เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากต่อไป"
นางสรัลนุช โพธิ์ไชยโย ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน กล่าวว่า "จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ 2564 กลุ่มเป้าหมาย ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา พช." จำนวน 86 แห่ง สำหรับพื้นที่ครัวเรือนของนายภัทรพล แม้นประสิทธิ์ เป็นหนึ่งในครัวเรือนต้นแบบในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว บนพื้นที่ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ โดยใช้แบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน สัดส่วน 1 : 3 ลักษณะพื้นที่โดยรวมเป็นที่ลุ่ม โล่งแจ้งตั้งอยู่ท่ามกลาง บ่อปลา บ่อกุ้ง ซึ่งเป็นอีกอาชีพหลักของคนตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า ทั้งนี้ ได้ดำเนินการขุดสระน้ำ คลองไส้ไก่ หลุมขนมครกเพื่อรองรับน้ำฝน และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ รวมถึงได้เริ่มลงปลูกต้นไม้หลากหลายชนิด ซึ่งนายภัทรพล มีความตั้งใจที่จะศึกษาพัฒนาการทำกสิกรรมในพื้นที่ของตนเอง ตามแบบวิถีของเศรษฐกิจพอเพียง ผสานกับนวัตกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบัน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ด้วยการสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ พลังงาน และนำไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้คู่ชุมชน ถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านพื้นที่ปฏิบัติ และเรียนรู้กิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา พช." ทั้ง 9 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ 1) การทำปุ๋ยแห้ง 2) การทำปุ๋ยน้ำ 3) การห่มดิน 4) การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง 5) การบริหารจัดการน้ำ 6) การปลูกหญ้าแฝก 7) การใช้พลังงานทดแทน 8) การจัดการขยะ 9) การบริหารจัดการดิน น้ำ ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ"
ด้านนายภัทรพล แม้นประสิทธิ์ เจ้าของแปลง กล่าวเสริมว่า "รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้ขับเคลื่อนพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ "โคก หนอง นา พช." ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน โดยที่ผ่านมาได้รับโอกาสที่ดี และการสนับสนุนความรู้จากการเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อได้ลงมือ ลงแรง ปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำให้มีความเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ที่สามารถทำให้ครัวเรือนพึ่งตนเองได้ มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่เมื่อบริโภคเพียงพอแล้ว ยังแบ่งปันไปยังครัวเรือนข้างเคียง มีเหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แม้จะตกอยู่ภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็ยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ด้วยความมั่นคงที่มีอยู่ในพื้นที่โครงการฯ ทั้งนี้ ตนเองจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมในการให้พื้นที่แห่งนี้ มีส่วนร่วมยกระดับขีดความสามารถของชุมชน สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ สร้างทักษะอาชีพ สร้างรายได้ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจกลับคืนมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง"