การประกาศและการบังคับใช้ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือที่เรารู้จักกันในนาม PDPA (Personal Data Protection Act) มีผลต่อคนไทยทุกคน เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิชัดเจน ส่วนองค์กรไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนต่างต้องปรับตัวตามกฎหมาย เพื่อวางแผนกำลังคนด้านดิจิทัลของประเทศให้พร้อมสำหรับกฎหมายฉบับนี้ เราจึงต้องรู้พื้นฐานด้านความตระหนักรู้และความคิดเห็นของคนไทยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
การสำรวจ ความตระหนักเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทย จัดทำและดำเนินการโดย ฝ่าย ICDL-PDPA สถาบันพัฒนาและทดสอบทักษะดิจิทัล (DDTI) บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด ได้รับการสนับสนุนโดย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย สมาคมการค้าดิจิทัลไทย บริษัท เทค ไทยแลนด์ อี-บิสสิเนส เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
เปิดให้ตอบแบบสอบถามระหว่างวันที่ 26 เม.ย.- 12 พ.ค.2564 ผ่านช่องทางออนไลน์ (โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์) มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 2,263 คน โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
- คนไทยรู้จัก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแค่ไหน
คนไทย 38.49% ไม่รู้เลยว่าประเทศไทยของเรามีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) 42.60% รู้ว่ามีกฎหมายตัวนี้ แต่ยังไม่ได้ดูในเชิงรายละเอียด 14.76% เคยศึกษามาบ้างแล้ว ส่วนคนที่ศึกษาจนเข้าใจกฎหมายตัวนี้เป็นอย่างดีมีเพียง 4.15% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น ... แล้วตัวคุณเองล่ะจัดอยู่ในกลุ่มไหนกันบ้าง?
เมื่อจำแนกข้อมูลข้างต้นอย่างละเอียดตามลักษณะทางประชากร พบว่าผู้ชายและผู้หญิงรู้เรื่อง PDPA แทบจะไม่แตกต่างกัน(ผู้ชายเคยศึกษาข้อมูลและเข้าใจ PDPA มากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย) โดยคนไทยอายุ 20-24 ปี เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ไม่ทราบเรื่องกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถึง 43.15% ของช่วงอายุ ส่วนกลุ่มคนอายุ 25-34 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานระดับต้น ศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น
นอกจากนี้ยังพบว่า การศึกษาและอาชีพมีผลต่อความสนใจเรื่อง PDPA เช่นเดียวกัน โดยกว่า 80% ของผู้ที่มีการศึกษาสูงสุดต่ำกว่าปริญญาโทไม่รู้เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ และกลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน รองลงมากลุ่มรับจ้าง/อาชีพอิสระ และกลุ่มข้าราชการ/พนักงาน/ลูกจ้างของรัฐ เป็นสามกลุ่มอาชีพที่มากกว่า 80% ไม่รู้เนื้อหาของกฎหมายฯ
จากผลการสำรวจ น่าสังเกตว่าผู้ที่ทำงานในภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะระดับพนักงานจะมีความตระหนักและเรียนรู้เนื้อหา พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่าคนกลุ่มอื่น
- ความเต็มใจเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทย
คนไทยพร้อมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองต่อฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรที่ทำงานมากเป็นอันดับที่หนึ่ง รองลงมา เพื่อใช้บริการของหน่วยงานรัฐ และเพื่อซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ตามลำดับ โดยกิจกรรมส่งเสริมการตลาด พวกโปรโมชั่นต่าง ๆ เป็นกิจกรรมที่คนไทยเต็มใจเปิดเผยข้อมูลน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่น
อย่างไรก็ตาม หากมองแบบเจาะลึกในกิจกรรมด้านการตลาด คนไทยมักยินยอมให้ข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองเพื่อประโยชน์ในการชิงโชครับของรางวัลมากที่สุด รองลงมาคือเพื่อรับของแถม และเพื่อรับส่วนลดราคา
ด้านปัจจัยที่คนไทยพิจารณายินยอมให้ข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ชายและผู้หญิงจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเล็กน้อย คือ ผู้ชายมองที่ความเสี่ยงของการให้ข้อมูลมากที่สุด ส่วนผู้หญิงจะมองเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ขอข้อมูลเป็นประเด็นสำคัญที่สุด โดยทั้งสองเพศสนใจเรื่องผลตอบแทนที่ได้รับจากการให้ข้อมูลน้อยที่สุดตรงกัน
- ชาย VS หญิง: เพศไหนกังวลด้านใด
การให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่ผู้อื่นมักมีความเสี่ยงตามมาด้วยเสมอ ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามผู้ชายและผู้หญิงมีความกังวลที่แตกต่างกัน ผู้ชายส่วนใหญ่จะกังวลว่าข้อมูลจะถูกนำไปให้ผู้อื่นต่อโดยปราศจากความยินยอม ส่วนผู้หญิงจะกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูลและกลัวข้อมูลรั่วไหลไปสู่คนอื่นมากที่สุด
เมื่อมองด้านหน่วยงานที่ต้องให้ข้อมูล เพศชายจะกังวลกับการให้ข้อมูลกับธุรกิจด้านพาณิชยกรรม ขายปลีก และขายส่งมากที่สุด ส่วนผู้หญิงจะรู้สึกกังวลกับการให้ข้อมูลกับกิจการด้านการเงิน ธนาคาร และประกันภัยมากที่สุด ส่วนหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กิจการด้านการศึกษา หน่วยงานของรัฐ เป็นหน่วยงานท็อป 3 อันดับที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างไว้วางใจในการให้ข้อมูลสูงที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อย
ข้อมูลส่วนบุคคลที่คนไทย (ผู้ชายและผู้หญิง) มีความกังวลในการมอบให้แก่หน่วยงานตามความจำเป็นสูงที่สุด 7 ประเภท คือ สำเนาบัตรประชาชน ที่อยู่ (บ้านเลขที่/หมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ/จังหวัด) สำเนาทะเบียนบ้าน เลขประจำตัวประชาชน รูปถ่ายเห็นใบหน้าชัดเจน บัตรประชาชน และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ และในทางตรงกันข้าม ข้อมูลสถานที่ทำงาน ประวัติการทำงาน และประวัติการศึกษา เป็นข้อมูล 3 ประเภทที่คนกังวลใจในการให้น้อยที่สุด จากข้อมูล 20 ประเภทที่เป็นตัวเลือกในการสำรวจ
PDPA เป็นกฎหมายที่อาจเพิ่มขั้นตอนและความซับซ้อนในการทำงานขององค์กรในหลายวงการ ทีมวิจัยจากสถาบันพัฒนาและทดสอบทักษะดิจิทัล (DDTI) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ชุดข้อมูลตามข้างต้นจะมีประโยชน์ต่อการวางแผนและดำเนินงานองค์กรภายใต้ระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายฉบับนี้
ผู้สนใจสามารถติดตามผลการสำรวจฯ ในตอนต่อไป รวมถึงสาระข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ pdpa.online.th เฟซบุ๊ก PDPA Thailand ไลน์ PDPA Thailand by DBC หรือโทร 0816325918, 0628596446