เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ มอบหมายเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) และผู้นำชุมชน ลงพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." ในเขตตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
โดยการลงพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." แปลงครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ขนาด 3 ไร่ ของนางนฤดี ศรีวงศ์ บ้านบัวเทิง หมู่ที่ 4 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ เอกสารสิทธิโฉนด พื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ เดิมพื้นที่ใช้ทำประโยชน์ในการทำนาและสวนพุทรา สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทำโคกหนองนา 3 ไร่ ใช้แบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชนสัดส่วนแบบ 1:3 ประเภทดินร่วนปนทราย และคาดว่าจะดำเนินการขุดปรับพื้นที่แล้วเสร็จในวันนี้ (19 มิถุนายน 2564)
โอกาสนี้ นางนฤดี ศรีวงศ์ เจ้าของแปลงฯ ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า "ขอขอบคุณรัฐบาล กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด อำเภอ ส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้ช่วยเหลือ และสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากในครั้งนี้ ตนรู้สึกดีใจและมีความสุขมากได้ที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ โดยทราบข่าวการรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ ได้ประชาสัมพันธ์การรับสมัครผ่านรายการวิทยุ จนได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมฯ ณ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) และได้รับการขุดปรับพื้นที่แปลงตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน และหลักกสิกรรมธรรมชาติ เชื่อว่าการขุดสระเพื่อเก็บน้ำจะทำให้สามารถมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี และมีความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงทางอาหาร ตนมีความสุขและพึงพอใจในผลงานการขุดปรับพื้นที่อย่างมาก ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านเป็นคนอำเภอสว่างวีระวงศ์ แห่งนี้ ที่ได้ช่วยพัฒนาบ้านเกิดของท่าน ตลอดจนสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ที่ช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องประชาชน ในยามที่กำลังประสบปัญหาจากภัยโควิด-19 ให้สามารถพึ่งตนเอง เลี้ยงชีพได้ และลดการพึ่งพาจากภายนอก โดยตนจะมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่และให้ผู้อื่นได้มาเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแบ่งปันความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นต่อไปด้วย" เจ้าของแปลงกล่าวด้วยความสุขและภาคภูมิใจ
ขณะที่ นางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ ได้เปิดเผยแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ ว่า "อำเภอสว่างวีระวงศ์ ได้รับการอนุมัติโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." จำนวนทั้งสิ้น 121 แห่ง แยกเป็นพื้นที่ระดับตำบล จำนวน 2 แห่ง และพื้นที่ระดับครัวเรือน จำนวน 119 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งได้การดำเนินงานตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จึงได้จัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ และกล้าไม้ ไว้แจกจ่าย ภายใต้ชื่อ "ตลาดสารภีท่าช้าง" โดยได้รับการสนับสนุนจากนายธนัท ชายทวีป นายอำเภอสว่างวีระวงศ์ ร่วมกับเครือข่าย โคก หนอง นา พช. อำเภอสว่างวีระวงศ์ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตของครัวเรือนต้นแบบ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) จึงขอเชิญชวนให้เจ้าของแปลงนำผลผลิตเพื่อไปจำหน่ายตลาดสารภีท่าช้าง บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแปลงมากนัก เช่น ผัก ต้นพันธุ์ผัก และต้นไม้ เป็นต้น ไปจำหน่ายในตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของแปลง และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้โคก หนอง นา และเปิดเป็นตลาดเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีจุดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนสร้างอาชีพที่ยั่งยืนและช่วยเหลือประชาชนสร้างเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ตามนโยบายของรัฐบาล ต่อไป