พลังผู้นำการเปลี่ยนแปลง สู่วิถีคลองนิยมยาตราโมเดล
(โดย พัชรินทร์ สมหอม)
"ตำบลคลองนิยมยาตรา" ต้นแบบของการพลิกเปลี่ยนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท ที่แม้คนส่วนใหญ่จะมีอาชีพดั้งเดิมเป็นเกษตรกร ทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมวัฒนธรรม สภาพภูมิสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนจากเกษตรกรไปสู่แรงงานในโรงงานที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ชุมชนได้ใช้กระบวนการเสริมสร้างผู้นำชุมชนให้มีศักยภาพ มีความรู้คู่คุณธรรม บริหารจัดการชุมชนตนเองได้และสามารถบูรณาการงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางสภาวะการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่กระจายโอบล้อมชุมชน ภายใต้คำกล่าวที่ว่า "ปิดหมู่บ้าน 3 เดือน พวกเราก็อยู่ได้"
สร้างความมั่นคงทางอาหาร : ปิดหมู่บ้าน 3 เดือน พวกเราก็อยู่ได้
ชาวตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ประสบผลสำเร็จในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของคนในชุมชน จากกระบวนการที่มีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงของกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างผู้นำชุมชน โดยการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน ให้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งได้ไปสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสืบสาน รักษา ต่อยอด และพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน เกิดภาวะปกติแบบใหม่หรือนิวนอร์มอล (New Normal) ที่ต้องหันมาพึ่งตนเองเพื่อลดการแพร่ระบาด นำไปสู่การช่วยเหลือของชุมชนในระยะยาว หนึ่งในทางเลือกของตำบลคลองนิยมยาตรา คือ การสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากแนวคิด "ผู้นำต้องทำก่อน" โดยการอบรมผู้นำ จำนวน 15 คน ให้มีความตระหนักรู้ในการแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการหมู่บ้าน ตำบลของตนเอง โดยเปิดโอกาสให้ผู้นำได้มีการพูดคุย นำเสนอและวางแผนในการพัฒนาชุมชน สามารถบูรณาการหน่วยงานเข้าร่วมดำเนินการกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เริ่มต้นด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความร่วมมือของคนในชุมชนด้วยการจัดทำกิจกรรมถนนกินได้ครบทั้ง 6 หมู่บ้าน ปลูกฝังเยาวชนให้เรียนรู้วิถีชีวิตใหม่สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์ให้ได้มีส่วนทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชนอย่างเหมาะสม เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับคนในชุมชนผ่านการอบรม จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ส่งเสริมการออม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการทำงานและการดำเนินชีวิต สร้างวัฒนธรรมการปลูกผักโดยการดำเนินงานภายใต้โครงการ "ปลูกผักพื้นที่ว่าง สร้างอาหาร สร้างความมั่นคง สไตล์ชุมชนเมือง" เพื่อส่งเสริมการใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็นแปลงผักในรูปแบบต่างๆ เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ถูกสุขลักษณะ ไม่เกิดปัญหาสุขภาพ ตลอดจนเสริมสร้างความรักสามัคคีและเกื้อกูลกันของคนในตำบล ซึ่งหากทุกตำบลในประเทศไทยดำเนินการแบบเดียวกันนี้ได้ ก็จะท้าทายกับคำกล่าวที่ว่า "ปิดหมู่บ้าน 3 เดือน พวกเราก็อยู่ได้" ก็เพราะเราได้สร้างความมั่นคงทางอาหารไว้อย่างทั่วถึง โดยการเริ่มจากครัวเรือนหนึ่งครัวเรือนสามารถดูแลได้ทั้งหมู่บ้าน หนึ่งหมู่บ้านสามารถดูแลได้ทั้งตำบล หนึ่งตำบลสามารถดูแลได้ทั้งอำเภอ หนึ่งอำเภอสามารถดูแลได้ทั้งจังหวัด และหนึ่งจังหวัดสามารถดูแลได้ทั้งประเทศ นั่นเอง
"คลองนิยมยาตราโมเดล" ก้าวต่อไปของการเปลี่ยนแปลงตำบลคลองนิยมยาตรา ได้มีการจัดทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนโดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการร่วมวางแผนและให้การสนับสนุน ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จากการเป็นเสมือนพี่เลี้ยงในการให้แนวทางโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ หน่วยงานในระดับอำเภอทุกหน่วยงาน ในส่วนของตำบล ได้รับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนตำบลคลองนิยมยาตรา วัดนิยมยาตรา สถานศึกษาในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำกลุ่มองค์กรต่างๆ รวมทั้งเยาวชนในตำบลที่ได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มแข็ง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับการคัดเลือกจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้เป็นตำบลที่มีผลการดำเนินงานตามโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปี 2564 ดีเด่น ในระดับเขตตรวจราชการที่ 2 และได้รับการจัดสรรงบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้นำไปจัดทำ "โครงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่วิถีคลองนิยมยาตราโมเดล" เพื่อพัฒนาชุมชนตามความต้องการของคนในพื้นที่ ได้แก่ การบริหารจัดการคลังอาหาร โดยการส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านปลูกผัก ผลไม้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ของชุมชน การถนอมอาหารจากผักสวนครัว ผลไม้ ส่งเสริมการเลี้ยงเป็ดปากน้ำ ไก่ไข่ ไว้บริโภค เป็นคลังอาหารในยามที่ชุมชนขาดแคลนอาหาร และการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยการจัดการคัดแยกขยะ การทำปุ๋ยหมักแบบแห้ง ถังขยะเปียก และการบริหารขยะรีไซเคิลในรูปแบบธนาคารขยะเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่คนในชุมชน นอกเหนือไปจากนี้ ยังมีการสร้างรูปแบบการพัฒนาชุมชนโดยการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นเยาว์มาเป็นผู้สืบสานงานพัฒนาชุมชนต่อจากผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลคลองนิยมยาตรา ทั้ง 15 คน ซึ่งวิธีการข้างต้นนี้ จะทำให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของตนเองได้อย่างแท้จริง