ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงระดับผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร เทคโนโลยียานยนต์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีทางการเกษตร และเทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น ซึ่งเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีให้ถึงขีดสุดนั้น จะต้องใช้วิทยาศาสตร์และการวิจัยควบคู่กัน จึงเป็นที่มาของคำว่า "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" หรือจะกล่าวว่า วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีก็ไม่ผิดนัก
วิทยาศาสตร์และการวิจัยเข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อทุกเทคโนโลยีจริง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ยกตัวอย่างเช่น นักเทคโนโลยีทางอาหารศึกษาลักษณะทางกายภาพและทางเคมีของอาหาร เพื่อวิจัย ออกแบบ และควบคุม กระบวนการผลิตและการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารให้มีคุณภาพเหมาะสมในการบริโภค ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีการใช้นวัตกรรมนาโนเพื่อพัฒนาคุณสมบัติของเส้นใยและการดูแลรักษาป้องกันกลิ่นอับและเชื้อรา
รวมถึงการใช้เทคโนโลยีนาโนช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการยึดเกาะและป้องกันเชื้อราในสีทาบ้าน หรือแม้แต่กระจกก็สามารถปรับแสงได้เมื่อมีประมาณแสงแตกต่างกัน และที่สำคัญมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และองค์ความรู้จากหลากหลายศาสตร์บูรณาการในการคิดค้นและผลิตยา เช่น วัคซีนต้านไวรัสโคโรนา 2019 เป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อีกมากมาย
ประเทศไทยกำลังพยายามปรับตัวให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 คือการเปลี่ยนภาพรวมของเศรษฐกิจแบบเดิมเป็นแบบใหม่ ที่มีการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่ญี่ปุ่นมุ่งหน้าจัดทำนโยบายที่เรียกว่า Society 5.0 เพื่อมุ่งหวังให้ประชากรก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ยกตัวอย่างเช่น อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือ หุ่นยนต์ (Robotics) เพื่อรองรับปัญหาที่จำนวนประชากรลดลงบวกกับผู้สูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ประเทศไทยมีต้นแบบของการนำวิทยาศาสตร์ไปใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนก็คือ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช พระองค์ทรงงานด้านวิทยาศาสตร์เพื่อผืนแผ่นดินไทยนานัปการ จนได้พระนามว่า "พระบิดาแห่งดินโลก" พระราชดำริและพระราชกรณียกิจจำนวนมากที่พระองค์ท่านได้ฝากไว้ให้กับแผ่นดินไทย ยกตัวอย่างเช่น
1) โครงการฝนหลวง ใช้การโปรย "ผงเกลือแป้ง" เพื่อดูดความชื้นในอากาศ จากนั้นใช้สารเคมีอีกหลายชนิดเพื่อช่วยในการเพิ่มเม็ดไอน้ำ เช่น เกลือแกง ยูเรีย แอมโมเนียไนเตรต และน้ำแข็งแห้ง เป็นต้น จนเมื่อเมฆเติบโตและเคลื่อนสู่เป้าหมายก็ใช้เทคนิคจู่โจมกลุ่มเมฆ โดยโปรยเกลือโซเดียมคลอไรด์ทับยอดเมฆและฐานเมฆและโปรยผงยูเรียเพื่อให้อุณหภูมิลดลงทำให้เกิดเม็ดน้ำขนาดใหญ่แล้วตกกลายเป็นฝนในที่สุด
2) โครงการแก้มลิง ที่มีการกักตุนแล้วระบายน้ำตามแรงโน้มถ่วง
3) กังหันน้ำชัยพัฒนา ใช้การปั่นน้ำเสียเติมออกซิเจน
4) โครงการไบโอดีเซล ที่ผลิตจากปาล์มประกอบอาหารสู่เชื้อเพลิงเครื่องยนต์ ลดต้นทุนในครัวเรือน และ
5) "การแกล้งดิน" เร่งกำมะถันทำปฏิกิริยา ไล่หน้าดินเปรี้ยว เป็นต้น
ซึ่งตัวอย่างที่หยิบยกมานี้ล้วนแต่เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อผืนแผ่นดินไทยที่ท่านรักทั้งสิ้น
วิทยาศาสตร์เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนวิทยาศาสตร์เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน
"ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน" และ "การดำรงชีวิตด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด" เป็นปณิธานและปรัชญาของมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรได้ใช้องค์ความรู้ที่มีเพื่อชุมชนโดยรอบให้มีความเข้มแข็ง เกิดเป็น "ชุมชนนวัตกรรม" คือมีการใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนในมิติต่าง ๆ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งการพัฒนาคน และการพัฒนาสิ่งของ ตัวอย่างโครงการที่ข้าพเจ้าได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าโครงการตามปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยา ยกตัวอย่างเช่น
1) การใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจสอบคุณภาพดิน น้ำ โภชนาการของข้าว สารสำคัญในน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมัก ในโครงการผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพสูงของจังหวัดพะเยา "ข้าวหอมนกยูง"
2) การบริหารจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางสังคม มีการพัฒนาเครื่องผลิตปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ เครื่องตรวจสอบคุณภาพของน้ำหมักชีวภาพ และจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นด้านการบริหารจัดการขยะของชุมชน
3) นำทีม อเวนเจอร์ของมหาวิทยาลัยพะเยาในการยกระดับคุณภาพของลิ้นจี่พะเยาด้วยกระบวนการจัดการที่เหมาะสม เชื่อมภาคการตลาดสู่ภาคเกษตรกร ทำให้สามารถส่งลิ้นจี่เพื่อขายในตลาดพรีเมี่ยมได้ เป็นต้น
วิทยาศาสตร์เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนวิทยาศาสตร์เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนวิทยาศาสตร์เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่บุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์และคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยพะเยาได้ดำเนินการอีกมากมาย เช่น ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการย้อมผ้าด้วยสีย้อมธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำ น้ำมันกระเทียม และการสืบสานภูมิปัญญาไทลื้อ เป็นต้น
เนื้อหาโดย : รศ.ดร.อนุรักษ์ ประสาทเขตร์การ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร ปร.ด. วิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา