กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 9 ติดต่อกัน
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า การระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้น อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ตามแถลงการณ์ของ กนง. การเติบโตของ GDP ปี 2564 และ 2565 ปรับลดลงอยู่ที่ 1.8% และ 3.9% ตามลำดับ จากเดิมประมาณการ GDP อยู่ที่ 3.0% และ 4.7% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศยังไม่มากนัก ส่วนภาคการส่งออกปี 2565 นั้นมีการประเมินว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 10% เป็น 17.1% กนง. มองว่า ไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ก่อนที่จะกลับไปเกินดุลที่ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ในส่วนของแรงกดดันด้านราคานั้น มีการประเมินอัตราเงินเฟ้อของปี 2564 และ 2565 อยู่ที่ 1.2%
การซื้อขายเงินบาทมีความผันผวนอย่างมาก เงินบาทซื้อขายที่ราว 31.85 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่มติของ กนง. เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ เงินบาทนั้นอ่อนค่าลงกว่า 6% ในปีนี้ และแตะระดับอ่อนค่าสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 โดยเงินบาทเป็นเงินสกุลที่อ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค อันเป็นผลมาจากการล่มสลายมาอย่างยาวนานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดย กนง. ตั้งข้อสังเกตว่าเงินบาทนั้นเคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด
คณะกรรมการกนง. มีกำหนดการประชุมรอบถัดไปในวันที่ 4 สิงหาคม นโยบายที่สื่อสารออกมาในการประชุมครั้งนี้บ่งบอกชัดเจนถึงความระมัดระวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นอีกครั้งที่ กนง. ได้แสดงถึงความกังวลต่อครัวเรือนและ SME ที่เป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้วเป็นทุนเดิม พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของแผนการจัดหาและกระจายวัคซีน ณ ปัจจุบัน กรุงศรียังไม่เห็นว่าแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนเป็นการเริ่มถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษจะมาเป็นแรงกดดันให้แก่นโยบายของ กนง. อันเนื่องมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังไม่สดใส กรุงศรีมองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงเดิมไปจนสิ้นปี 2565 และทางการจะเลือกใช้มาตรการที่ตรงจุดเพื่อช่วยเหลือด้านการกระจายสภาพคล่องและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป