เปิดตัวเว็บไซต์ ASEAN Access ศูนย์ให้บริการข้อมูลธุรกิจแบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบการ SMEs

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 24, 2021 11:06 —ThaiPR.net

เปิดตัวเว็บไซต์ ASEAN Access ศูนย์ให้บริการข้อมูลธุรกิจแบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบการ SMEs

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 คณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (ACCMSME) ร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เปิดตัวเว็บไซต์ www.aseanaccess com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลธุรกิจระหว่างประเทศแบบครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงตลาดภายในอาเซียนและทั่วโลก

เว็บไซต์นี้ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการค้าและการตลาดสำหรับธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนและประชาคมระหว่างประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้สะดวกยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยเหลือธุรกิจในการแก้ปัญหาและยกระดับการค้าสู่ตลาดต่างประเทศ กำหนดเป้าผู้ใช้เว็บไซต์จำนวน 10,000 รายและมีผู้ให้บริการรวมถึงผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าและบริการสมัครสมาชิกประมาณ 600 รายภายในสิ้นปีนี้นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการหารือกับสหภาพยุโรปและสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (East Asia Business Council - EABC) เพื่อร่วมกันสร้างโปรแกรมที่ส่งเสริมการจับคู่ทางธุรกิจ

การค้าภายในอาเซียน นับเป็นส่วนแบ่งการค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.5 ของสินค้าทั้งหมดในปีพ.ศ. 2562 และบ่งชี้ว่ามีการพึ่งพากันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในระดับสูง เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ธุรกิจในภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนการทำงานแบบเดิมไปสู่การทำงานแบบดิจิทัลเพื่อยกระดับทางธุรกิจอีกทางหนึ่งผ่านเว็บไซต์ ASEAN Access

Satvinder Singh รองเลขาธิการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้การต้อนรับ ASEAN Access ในฐานะเป็นส่วนสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียนสำหรับธุรกิจที่ดำเนินการในภูมิภาค เขาเรียกร้องให้ศูนย์ประสานงานระดับประเทศแสดงบทบาทอย่างแข็งขันในการส่งเสริม สนับสนุนเนื้อหา และรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลให้แก่ผู้ให้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่า ASEAN Access จะบรรลุวัตถุประสงค์ของประชาคมธุรกิจอาเซียนได้อย่างแท้จริง

ในส่วนของ Dato' Suriani binti Dato' Ahmad ประธาน ACCMSME และเลขาธิการกระทรวงการพัฒนาผู้ประกอบการและสหกรณ์ของมาเลเซีย กล่าวว่าการเปิดตัว ASEAN Access ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในธุรกิจต่างๆ จะสามารถเป็นหนึ่งในมาตรการปรับตัวที่ใช้เพื่อความอยู่รอดท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

มร.ไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า "วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่ง SMEs คิดเป็นร้อยละ 90 ของธุรกิจทั้งหมดในอาเซียนและมีส่วนทำให้การจ้างงานโดยรวมร้อยละ 60-90 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเทศ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกและรายได้รวมมีเพียงร้อยละ 10-30 เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการยกระดับ SMEs ไปสู่สากลยังคงอยู่ในระดับต่ำในภูมิภาค ดังนั้น ASEAN Access จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นทั้งแพลตฟอร์มข้อมูลทั่วไปและเชิงรุกเพื่อเติมเต็มและอุดช่องว่างนี้ และเพื่อสนับสนุน SMEs ของอาเซียนให้มีสัดส่วนการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

ในนามของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของเยอรมนีและกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) GIZ พร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนา ASEAN Access ให้ดียิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริม SMEs ของอาเซียน และสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป รวมถึงการสนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจอาเซียนอย่างต่อเนื่อง"

ด้วยสโลแกนที่ว่า "Your Business Information Gateway to ASEAN and Beyond" ASEAN Access ถูกสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประเทศไทย กล่าวว่า เรามีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการค้าและโอกาสทางการตลาดแก่ธุรกิจอาเซียนจากทั้งฝั่งซัพพลายเออร์และลูกค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้พวกเขามีข้อมูลสำหรับประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าสู่ตลาดอาเซียน

และเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเข้าสู่ตลาดใหม่ เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อธุรกิจกับผู้ให้บริการในด้านการกระจาย การขนส่ง การวิจัยตลาด และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ อย่างครบวงจร

ด้าน Dr. Yanty Rahman ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนธุรกิจ โดยกล่าวว่า "เราควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธุรกิจสู่ธุรกิจ และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล ผ่านการมีส่วนร่วม ตามจุดประสงค์หลักของเราที่ต้องการตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด"

ASEAN Access เป็นความคิดริเริ่มของ ACCMSME ซึ่งดำเนินงานหลักโดยสสว.ประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมนีและ GIZ

ASEAN Access มีส่วนช่วยในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ของอาเซียนเพื่อการพัฒนา SMEs ประจำปี 2559-2568 โดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมผลิตผล เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มการเข้าถึงการเงิน เพิ่มการเข้าถึงตลาด ยกระดับความเป็นสากล ส่งเสริมนโยบายและกฎระเบียบ ตลอดจนส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาทุนมนุษย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ