สัญญาณเตือนติดสมาร์ทโฟน

ข่าวทั่วไป Monday June 28, 2021 09:39 —ThaiPR.net

สัญญาณเตือนติดสมาร์ทโฟน

เล่นมือถือ ปวดมือ ปวดแขน มือชา ถ้ามีอาการเหล่านี้ แสดงว่าร่างกายกำลังส่งสัญญาณเตือนภัยจากการใช้ชีวิตประจำวันแล้วค่ะ โดยเฉพาะอาการที่เรียกว่า "ติดสมาร์ทโฟน" ในโลกยุคปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้ามากในด้านการสื่อสารแบบไร้สาย ผู้คนต่างมีโลกส่วนตัวอยู่กับเครื่องมือสื่อสารของตน มองไปทางไหนก็ต่างก้มหน้าก้มตามองมือถือ ผู้คนพูดคุยกันน้อยลง เป็นยุคที่ผู้คนกำลังถูกมอมเมาด้วยภาพและเสียงที่มาล่อตาล่อใจ จะมีสักกี่คนที่สนใจกับร่างกายว่า ตอนที่กำลังเพลิดเพลินอยู่นั้น เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายบ้าง เกือบทั้งหมดจะรู้สึกตัวก็ต่อเมื่อเงยหน้าขึ้นจากจอเล็กๆ ในมือ นั่นแหละ

แล้วเสียงเตือนแบบไหนที่บอกว่าคุณกำลังเป็นโรคติดสมาร์ทโฟนคุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้มาให้ข้อมูลว่า คนที่เป็นโรคติดสมาร์ทโฟน จะได้รับเสียงเตือนจากร่างกายบ่อยๆไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเมื่อยบ่า ก้านคอ สะบัก ปวดข้อศอก ปวดแขน นิ้วล็อค มือชา มือไม่มีแรง ปวดฝ่ามือ มือแข็ง เวลาใช้แรงกำหรือหยิบของ จะรู้สึกกำได้ไม่ถนัด และแม้แต่อาการมึนๆ ตึงๆ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ตาพล่ามัว หาวนอนบ่อยๆ หายใจไม่อิ่ม ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้ มีต้นตอมาจากการเล่นเกมส์ การเพลิดเพลินไปกับโรคออนไลน์ สื่อสารแบบต้องพิมพ์ถึงกัน ด้วยการใช้สมาร์ทโฟนนั่นเอง หากคุณลองเปลี่ยนจากเป็นผู้เล่นเป็นผู้สังเกตุการณ์ คุณอาจเห็นภาพตัวเองในลักษณะท่าทางที่กำลังทำร้ายร่างกายอยู่นั่นเอง

การจัดการกับร่างกายหรือกับอาการต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมานั้นไม่ยากเลยค่ะ ถ้าดูจากต้นเหตุของอาการก็พูดให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า เป็นการขาดความสมดุลของระบบโครงสร้างร่างกายนั่นเอง ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทุกหน่วยเซลล์ของร่างกาย ได้รับอาหาร และขับของเสียต่างๆ ผ่านทางหลอดเลือดและน้ำเหลือง หลอดเลือดเหล่านี้ก็ทอดผ่านกล้ามเนื้อ จึงสรุปได้ว่า เมื่อมีความบกพร่องของโครงสร้างร่างกาย ร่างกายก็จะส่งสัญญาณเตือนด้วยการแสดงอาการต่างๆ ดังที่ได้กล่าวนั่นเอง

  • เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เส้นใยกล้ามเนื้อหดสั้นมากกว่าปกติ ทั้งบริเวณกล้ามเนื้อคอด้านหน้า กล้ามเนื้อใต้ฐานกะโหลกศีรษะ กล้ามเนื้อช่วงอก กล้ามเนื้อระหว่างกระดูกชายโครงด้านหน้า กล้ามเนื้อในการงอศอก กล้ามเนื้อในนิ้วมือและฝ่ามือ เกิดการเกร็งตัวจากการยืดยาวออกของกล้ามเนื้อด้านหลังช่วงก้านคอ กล้ามเนื้อบ่า กล้ามเนื้อรอบสะบักด้านใน และกล้ามเนื้อหลังช่วงบน
  • การที่เส้นใยกล้ามเนื้อมีการหดสั้นมากกว่าปกติ จะมีผลกับหลอดเลือดและเส้นประสาท ที่ทอดผ่านเส้นใยกล้ามเนื้อนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณคอซึ่งเป็นส่วนที่ผ่านไปเลี้ยงสมอง บริเวณอกซึ่งเป็นส่วนที่ระบบเลือด-ระบบน้ำเหลือง-ระบบเส้นประสาท ผ่านไปที่แขน ที่ข้อมือและนิ้วมือทั้งสองข้าง ด้านหน้าอกก็เป็นส่วนที่ช่วยในการขยายตัวของปอด ช่วยในการหายใจ แต่เมื่อถูกกดรัดอยู่ ก็ทำให้การไหลเวียนของระบบเหล่านี้สูญเสียไปด้วย และนั่นก็ส่งผลให้มีอาการต่างๆ ดังที่กล่าวมา
  • จากข้อ 2 และ ข้อ 3 จะเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่าMuscle Imbalance คือในภาวะปกติ กล้ามเนื้อด้านหน้ากับด้านหลังจะทำงานร่วมกันและสมดุลกันเพื่อพยุงให้กระดูกสันหลังช่วงบน และช่วงคอของเราอยู่ในแนวความโค้งที่ปกติ แต่เมื่อเกิดความไม่สมดุลขึ้น จะมีผลทำให้กระดูกของเราค่อมมากกว่าปกติ จากการผิดรูปของกระดูกสันหลังช่วงบนกับช่วงคอนั้น มีผลทำให้การรับน้ำหนักของกระดูกคอมากกว่าปกติ เป็นที่มาของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมที่เสื่อมเร็วกว่าวัย และมีผลต่อเนื่องทำให้เส้นประสาทที่คอถูกกดทับ เกิดอาการปวดร้าวตามแนวของเส้นประสาท ซึ่งอาการปวดจากการกดทับนี้จะไม่เหมือนปวดกล้ามเนื้อธรรมดา จะเป็นอาการปวดล้า ๆ เมื่อย ๆ ลึกๆ ตลอดทั้งศีรษะ คอ บ่า สะบัก หรือแขน บางเคสร่วมกับอาการอ่อนแรง ซึ่งหากปล่อยไว้นาน รักษาไม่ตรงต้นตอของอาการที่เป็นก็อาจทำให้ไม่มีแรง หรือที่เราชอบเรียกว่าอัมพฤกษ์ อัมพาตก็เป็นได้
  • ฉะนั้นเราสามารถเลือกได้ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไร การใช้เครื่องมือที่ทันสมัยตามเทคโนโลยีนั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสะดวก แต่หากใช้ผิดวัตถุประสงค์ ปล่อยให้ตัวเองอยู่กับหน้าจอนานๆ คงเป็นผลเสียมากกว่าผลดีเป็นแน่


    แท็ก สมาร์ทโฟน  

    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ