ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ประเทศไทย ร่วมสนับสนุน โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ ปี 2564 ภายใต้ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างยั่งยืน
25 มิถุนายน 2564 อาคารสราญวิทย์ ชั้น 6 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดพิธีปฐมนิเทศโครงการ ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ ประจำปี 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบออนไลน์ขึ้น โดยมีหน่วยงานพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนโครงการฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (โรงเรียน ตชด.)
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. และ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ เป็นโครงการที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีความห่วงใยต่อโรงเรียน ตชด. ในด้านการศึกษา ซึ่งมูลนิธิฯ ร่วมกับ สวทช. ดำเนินโครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ ค้นหาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ โดยจุดเริ่มต้นโครงการมาจากพระราชกระแสว่า โรงเรียนในพื้นที่ชายขอบยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเมื่อเขามีไฟฟ้าใช้จะทำให้มีโอกาสด้านการเรียนมากขึ้น เด็กก็จะมีคอมพิวเตอร์ใช้ มีแท็บเลตใช้ และโรงเรียนก็มีช่องทางสื่อสารกับเรามากขึ้น การสื่อสารที่ดีทำให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งด้านความรู้ ด้านการแพทย์ การอาชีพและอื่น ๆ
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. และ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า มูลนิธิฯ และ สวทช. ได้ดำเนินโครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบฯ มาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ได้ก้าวสู่ระยะที่ 3 แล้ว มีเป้าหมายเพื่อการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบโทรมาตร ระบบโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสารและระบบแอปพลิเคชั่นเพื่อการจัดการเรียนการสอน มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 23 แห่ง คือ โรงเรียน ตชด. จำนวน 14 แห่ง ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง จำนวน 8 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1 แห่ง โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสนับสนุนด้านการบำรุงรักษาระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบโทรมาตร และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนระบบโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสาร
ที่ผ่านมา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ ร่วมกับ สวทช. จัดกิจกรรมต่อยอดการใช้ประโยชน์จากระบบไอซีที ที่ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการคือ 1. เพื่อการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครู ตชด. ด้านการประยุกต์ใช้ไอซีที 2. เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านการตลาดดิจิทัล (มีพื้นที่นำร่อง 1 แห่ง) 3.เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และ 4. เพื่อส่งเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเรื่อง "การผลิตไฟฟ้าส่องสว่างด้วย LED แบบพึ่งพาตนเอง"
ในปี 2564 นี้ โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานพันธมิตรเพื่อจัดกิจกรรม ประกอบด้วย กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมเป็นคณะทำงาน ให้คำปรึกษาและติดตามผลการดำเนินงานร่วมกันทั้งในรูปแบบออนไลน์และการลงพื้นที่นิเทศติดตาม และเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาตลอดกิจกรรม และแผนการดำเนินงานโครงการตามเป้าหมายที่สำคัญทั้ง 4 ประการ โดยกำหนดจัดกิจกรรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2564
จุฑามาส เรืองวณิช ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวถึง การเข้าร่วมสนับสนุนโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของครูและนักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ เนื่องจากธนาคารเห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในขณะที่เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลนั้นมีบทบาทสำคัญในชีวิตมากขึ้น เห็นได้ชัดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม้ธนาคารเองก็นำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น e-document, e-signature แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึง block chain จึงอยากให้น้อง ๆ นักเรียนได้เพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการการเงินและการออม การใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ และรับผิดชอบต่อสังคม
"เอชเอสบีซี เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย เริ่มดำเนินธุรกิจครั้งแรกในปี พ.ศ. 2431 ที่ผ่านมา สนับสนุนโครงการด้านการศึกษา การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมของไทยมาโดยตลอด จึงได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการนี้ และหากมีโอกาสธนาคารก็จะนำพนักงานไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนด้วย" จุฑามาส กล่าวเสริม
พลตำรวจโทวิชิต ปักษา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กล่าวว่า โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนประสบภาวะความยากลำบากและข้อจำกัดหลายด้านที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครู ด้านการจัดการเรียนการสอน และคุณภาพของเด็กนักเรียน ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย ปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัดรวมทั้งสิ้น 218 แห่ง กว่าร้อยละ 20 เป็นโรงเรียนที่เดินทางยากลำบากมากไม่สามารถเข้าถึงได้โดยรถยนต์ในทุกฤดู นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจนด้อยโอกาส และส่วนหนึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยไม่รู้ภาษาไทย จึงเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน ประกอบกับเด็กนักเรียนมักขาดเรียนบ่อยอันมีสาเหตุจากการเดินทางที่ยากลำบากโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน มีการอพยพย้ายตามผู้ปกครอง และประสบปัญหาภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและการเรียนรู้ของเด็ก อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาที่เพียงพอ เนื่องจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนไม่ใช่หน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา ครูส่วนใหญ่ไม่มีวุฒิทางการศึกษา หรือไม่ตรงสาขาวิชาที่ตนเองสอน
การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ครูผู้สอนทุกท่านจะได้รับความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนสอนได้อย่างเหมาะสม และนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ในเบื้องต้น เป็นการเตรียมตนเองไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแบบชีวิตวิถีใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 860 1358 หรือ คุณศรีดา (098 098 4321)