ศูนย์คุณธรรม เปิดตัวหลักสูตร "ต้นทุนชีวิต สร้างวัคซีนชีวิตด้วยพลังบวก" (Life Assets Positive Development) หวังเป็นวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้เด็กไทย ด้วยพลังบวก หลังพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา พลังบวกของเด็กไทยอ่อนแอนลง โดยเฉพาะ "พลังชุมชน" ด้านจิตอาสา น้ำใจ แบ่งปัน
วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ณ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทุนชีวิต หรือ life assets ตามความหมายจากราชบัณฑิตยสถาน ปี 2556 หมายถึง คุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม และสติปัญญา เกื้อหนุนให้เจริญเติบโตและดำรงชีพอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและมีความสุข มนุษย์มีทุนชีวิตในระดับหนึ่งมาตั้งแต่เกิด และเพิ่มขึ้นตามวัยจากการอบรมเลี้ยงดู ความรัก ความเอาใจใส่ ความเข้าใจของพ่อแม่และบุคคลรอบข้าง รวมทั้งปฏิสัมพันธ์การเรียนรู้จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุนชีวิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีพลังในการปรับตัวและเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้ จากนั้นได้มีการพัฒนาเรื่อยมาตลอดระยะเวลา 10 ปี เราจึงนิยามให้ต้นทุนชีวิต เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดทั้งพลังบวกและวัดจิตสำนึกทั้งต่อตนเองและสังคม หรือถิ่นที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นในเมือง หรือบนดอย หรือที่อื่น ๆ โดยถอดรหัสออกมาเป็น 5 พลัง ที่จะสะท้อนตัวตนของเด็กว่า เด็กจะรู้สึกอย่างไร มีทักษะรู้คิด และจิตสำนึกอย่างไร ต่อต้นทุนชีวิตทั้ง 5 พลังนี้ ได้แก่ 1. พลังตัวตัวตน (ตัวเราเอง) 2. พลังครอบครัว 3. พลังสร้างปัญญา (การสร้างพลังปัญญา อาจเกิดขึ้นจากในรั้วโรงเรียน หรือนอกรั้วโรงเรียน) 4. พลังชุมชน และ 5. พลังเพื่อนและกิจกรรม ถือเป็นเครื่องมือวัดพลังบวกแรกของประเทศไทย ซึ่งวัดเสียงสะท้อนของตัวเด็กเองว่ารู้สึกอย่างไรผ่านบริบท 5 พลังดังกล่าวข้างต้น
รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวต่ออีกว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านนี้ ได้มีโอกาสทำการสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กไทย โดยช่วงปี 2552-2553 ได้ทำการสำรวจเด็กในระดับมัธยม หลายหมื่นกว่าตัวอย่างทั่วประเทศ ผ่านกลไกระบบของกระทรวงศึกษาธิการ ในสังกัด สพฐ. โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น พบภาพรวมของพลังบวก อยู่ในเกณฑ์พอใช้ คือ 69.10% และจากผลลัพธ์ในต้นทุนชีวิตทั้ง 5 พลัง กลับพบว่า "พลังชุมชน" อยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนแอที่สุด (64.04%) โดยเฉพาะในเรื่องจิตอาสา น้ำใจ แบ่งปัน เหลืออยู่เพียงประมาณ 34% โดยในปีเดียวกันนี้เมื่อนำมาเทียบเคียงกับรายงานวิจัยร่วมกับการทำสำรวจในเด็กพิเศษ (ยกตัวอย่าง เด็กที่มีการบกพร่องทั้งการได้ยินและการมองเห็น) พบว่า เด็กเหล่านี้มีจิตอาสา น้ำใจ แบ่งปัน มากกว่าเด็กปกติถึง 2 เท่า
ต่อมาในปี 2556 มีการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในเยาวชนอายุ 12-25 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเด็กในระบบการศึกษาปกติ โดย สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 2. กลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิชาการ (ยกตัวอย่าง เด็กค่ายโอลิมปิก, เด็กที่เป็นตัวแทนการแข่งขันทางวิชาการระดับประเทศ) โดย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ 3. กลุ่มการศึกษาทางเลือกที่เข้าร่วมโครงการฯ (ยกตัวอย่าง ศูนย์การเรียนม่อนแสงดาววิชชาลัย, โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญา, มูลนิธิเด็ก ฯลฯ) โดยทีมคณะทำงานกลาง (แกนนำเยาวชนกลุ่มการศึกษาทางเลือก) ซึ่งผลลัพธ์ของพลังทุนชีวิตโดยรวม ของเด็กทั้ง 3 กลุ่มนี้ออกมาใกล้เคียงกัน คือ อยู่ในระดับเกณฑ์พอใช้ถึงดี (ประมาณ 68-70%) แต่พอมาดูที่ผลลัพธ์ต้นทุนชีวิตทั้ง 5 พลัง พบว่า ภาพรวม "พลังชุมชน" ของเด็กกลุ่มที่มีความสามารถทางวิชาการ อยู่ที่ 50.45% ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับที่น้อยกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ ค่อนข้างมาก ในขณะที่ "พลังครอบครัว" ของเด็กกลุ่มที่มีความสามารถทางวิชาการ อยู่ที่ 82.39% ซึ่งมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ สิ่งนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล่ำของการศึกษาในเด็กแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน
จนกระทั่ง ปี 2562 ศูนย์คุณธรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล และกระทรวงศึกษาธิการ เก็บข้อมูลใหม่ทั้งประเทศไทยอีกครั้ง พบสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือ "พลังชุมชน" ตกทั้งพลังทั่วประเทศไทย คือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 53.84% จึงทำให้ ศูนย์คุณธรรมผลักดันหลักสูตร "ต้นทุนชีวิต สร้างวัคซีนชีวิตด้วยพลังบวก" นี้ขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยให้องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถนำไปใช้บูรณาการ สู่การพัฒนา และเป็นวัคซีนภูมิคุ้มกันทางสังคมต่อไป
"ต้นทุนชีวิต หรือทุนชีวิต เป็นเรื่องที่สำคัญและมีความหมายมาก ถือเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม เรามักจะพบสมมติฐานมากมายที่เกิดขึ้นในสังคม อย่างทุนชีวิตในครอบครัวที่ยากจน หรืออยู่ในสภาวะยากลำบาก แต่พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างมีทุนชีวิตที่แข็งแกร่ง ก็พบว่า ลูกกลายเป็นเด็กไทยหัวใจแกร่ง ตรงกันข้ามกับพ่อแม่ที่มีฐานะดี มีการศึกษาดี ไม่ได้อยู่ในสภาวะยากลำบากเลย แต่เลี้ยงลูกให้มีทุนชีวิตต่ำ ปรากฎว่าพบพฤติกรรมเสี่ยงมากมายกว่าหลายเท่าตัว" รศ.นพ. สุริยเดว กล่าว
น้องหญิง เด็กหญิงกชวรรณ ราวีศรี อายุ 12 ปี และน้องแสน เด็กชายพสธร ราวีศรี อายุ 11 ปี นักเรียน จากโรงเรียนบ้านมณีโชติสามัคคี สระบุรี ตัวอย่างหนึ่งที่ต้นทุนชีวิตไม่ได้มาพร้อมกับฐานะทางบ้านที่ดี แต่พี่น้องทั้ง 2 คน ยังเป็นกำลังสำคัญที่นอกจากเรียนแล้ว ยังต้องช่วยทางบ้านทำงานอยู่ตลอด สิ่งที่เป็นต้นทุนสำคัญของน้องทั้ง 2 คน คือ ความกตัญญู ที่บอกกับครวบครัวเสมอว่า เวลาที่เสียไปต้องมีคุณค่า ปัจจุบันใช้เวลาหลังเลิกเรียน และช่วงกลางดึกรับจ้างชำแหละโครงไก่
น้องติวเตอร์ มนัสวี อานามนารถ อีกหนึ่งตัวอย่าง หนุ่มน้อยจากสัตหีบ ผู้ที่บอกกับตัวเองว่า ต้นทุนของเขาไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่เริ่มต้นจากติดลบ น้องติวเตอร์เริ่มต้นร้องเพลงเปิดหมวกหาเงินเพื่อครอบครัว และส่งตัวเอง และน้องๆ เรียนตั้งแต่ ม.1 กีต้าร์ตัวแรกกับเชือกฟางไปทุกๆ ตลาดในชลบุรีและระยอง และบอกกับตัวเองเสมอ ผมจะพัฒนาตัวเองต่อไป เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ร้องเพลงริมถนนเยาวราช ทุกคืนวันศุกร์ เสาร์ เพื่อหาทุนการศึกษา และความตั้งใจบวกความสามารถของน้อง ทำให้มีโอกาสได้ร้องเพลงกับศิลปินที่ชื่นชอบ ว่าน ธนกฤต ที่ร่วมแจมกับน้องติวเตอร์ นักเรียนร้องเพลงเปิดหมวก หาเงินริมถนนเยาวราช กลายเป็นโมเมนต์ประทับใจ ยิ้มตามกันในโซเชียล ปัจจุบัน น้องติวเตอร์ ได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินใหม่กับค่ายเพลงน้องใหม่ ค่าย Bad Morning และมี single เพลงเขิน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา
รศ.นพ. สุริยเดว กล่าวทิ้งท้ายว่า เครื่องมือทุนชีวิต จึงเป็นเครื่องมือวัดภูมิคุ้มกันทางสังคม เราจะใช้ "ทุนชีวิต" เป็น navigator เหมือนกับปรอทวัดไข้ ถ้าอยากรู้ว่าเราป่วยหรือไม่ เราใช้ปรอทวัดไข้ในการวัด เช่นเดียวกัน หากเราต้องการรู้ว่าเรามีภูมิคุ้มกันทางสังคมดีหรือไม่ เราจะใช้เครื่องมือทุนชีวิตมาวัดพลังบวก ในขณะที่วัคซีนภูมิคุ้มกันทางสังคม หนึ่งในนั้น ก็คือ ระบบพี่เลี้ยงในชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างผลักดันพลังบวกขึ้นมาได้ โดยผ่านกระบวนการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งด้วยจิตวิทยาเชิงบวก ดังนั้น หลักสูตร "Life Assets ต้นทุนชีวิต" จึงเป็นหลักสูตรที่จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การสร้างต้นทุนชีวิต โดยใช้จิตวิทยาพลังบวก เพื่อสร้างทักษะชีวิตอย่างมีจิตสำนึกต่อตนเองและสังคม
สำหรับผู้ที่สนใจ เข้าเรียนหลักสูตร "Life Assets ต้นทุนชีวิต" หลักสูตรออนไลน์ ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดตามได้ที่เวปไซด์ศูนย์คุณธรรม www.moralcenter.or.th หัวข้อหลักสูตรออนไลน์ ซึ่งยังมีหลักสูตรอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น หลักสูตรกลยุทธ์การสร้างและพัฒนาองค์กรคุณธรรม, หลักสูตรการจัดการความรู้สู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ มากมาย หรือติดต่อ 02-644-9900