นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive) เปิดเผยว่า การดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ในช่วงไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ 1,666 ล้านบาท ลดลง 97 ล้านบาท หรือ 5.5% จากไตรมาส 1/2564 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมจากทุกธุรกิจหลักอ่อนตัวลง ทั้งค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัย ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมจัดการกองทุน อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายสำรองปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากบริษัทได้ตั้งสำรองในระดับสูงเพื่อรองรับความเสี่ยงล่วงหน้าไปแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังมาโดยตลอด แม้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% แต่ถือเป็นไปตามกรอบที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 213.7%
"เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังเปราะบางและคาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำ แม้จะมีแรงหนุนจากฐานที่ต่ำมากในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากมองไปในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก นำไปสู่การบังคับใช้มาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในบางพื้นที่ ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชนให้มีแนวโน้มชะลอตัวลงยิ่งกว่าเดิม และเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้" นายศักดิ์ชัย กล่าว
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อและรุนแรงมากกว่าที่คาดนี้ การให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างทันการณ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและกลุ่มรายย่อย โดยแนวทางที่ทิสโก้ให้ความช่วยเหลือจะอยู่ในรูปแบบของการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การปรับลดค่างวด การขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ การปรับวิธีผ่อนชำระแบบขั้นบันได เป็นต้น ในส่วนของลูกค้าธุรกิจยังให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอนุมัติวงเงินแล้วจำนวน 4,000 ล้านบาท ขณะที่ลูกค้ารายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถยนต์ หากทำการปรับโครงสร้างหนี้แล้วยังผ่อนชำระไม่ไหว สามารถนำรถมาคืนในโครงการพิเศษ "คืนรถจบหนี้" ได้ โดยลูกค้าต้องผ่อนชำระมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 งวด และหากอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด ทิสโก้จะยกหนี้ให้ทั้งหมด โดยไม่ดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม ไม่มีค่าธรรมเนียม และระบุสถานะเป็นปิดบัญชี ทำให้ลูกค้าจะไม่เสียประวัติเครดิตและไม่มีภาระหนี้ผูกพันในระยะยาว ซึ่งไม่เพียงแต่แก้ปัญหาให้ลูกค้าแบบเบ็ดเสร็จในภาวะวิกฤต ในอนาคตยังมีโอกาสกลับมาทำธุรกรรมขอสินเชื่อได้ใหม่ ซึ่งเอื้อให้เกิดผลดีต่อระบบโดยรวม ทั้งการลดจำนวนคดีที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาล การจบปัญหาหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยลูกค้าที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
"นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทิสโก้ให้ความช่วยเหลือและดูแลลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละประเภท ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ที่ยาวนานขึ้น ทิสโก้จึงขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือต่อจนถึงสิ้นปี สอดคล้องไปกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน ทิสโก้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้วกว่า 150,000 ราย" นายศักดิ์ชัย กล่าว
สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 และรอบครึ่งปีแรก 2564
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 2 ปี 2564 เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,666 ล้านบาท ลดลง 5.5% จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่อ่อนตัวลง 21.4% โดยรายได้ค่าธรรมเนียมชะลอตัวลงจากไตรมาสที่แล้ว ประกอบไปด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง โดยเฉพาะธุรกิจนายหน้าประกันภัย (Bancassurance) ตามสถานกาณ์เศรษฐกิจที่ซบเซาจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในขณะเดียวกัน ธุรกิจตลาดทุนชะลอตัวลง ทั้งค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลดลง และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุน จากการออกกองทุนใหม่ที่น้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 1.2% ตามการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss - ECL) อยู่ที่ 1.0% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทได้ตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ล่วงหน้าไปแล้ว สอดคล้องกับนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง
สำหรับผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2564 กำไรสุทธิมีจำนวน 3,430 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากธุรกิจตลาดทุนที่ปรับตัวดีขึ้น และการรับรู้กำไรจากเงินลงทุน ในขณะที่รายได้หลักจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังคงอ่อนแอ ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 5.0% จากการชะลอตัวของสินเชื่อ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 32.3% หลักๆมาจากค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ค่าธรรมเนียมธุรกิจจัดการกองทุน และการรับรู้กำไรจากเงินลงทุน สำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากการตั้งสำรองล่วงหน้าในช่วงต้นปี 2563 ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 17.7%
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีจำนวน 213,995 ล้านบาท ลดลง 4.8% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการชะลอตัวของทุกธุรกิจ ตามการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังในภาวะความเสี่ยงที่สูงขึ้น และการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อธุรกิจและเอสเอ็มอี ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% จากลูกหนี้ปรับโครงสร้างบางส่วนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่ยังคงอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 213.7%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 24.1% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19.3% และ 4.8% ตามลำดับ