'SMD' เด้งรับดีมานต์เครื่อง เออีดี (AED) หนุนออเดอร์เพิ่มไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท หลังรัฐฯ ออกกฏให้อาคารสูงติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ ช่วยชีวิตฉุกเฉิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 15, 2021 15:33 —ThaiPR.net

'SMD' เด้งรับดีมานต์เครื่อง เออีดี (AED) หนุนออเดอร์เพิ่มไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท หลังรัฐฯ ออกกฏให้อาคารสูงติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ ช่วยชีวิตฉุกเฉิน

บมจ.เซนต์เมด (SMD) ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจและช่วยชีวิตรับลูกมาตรการภาครัฐฯ ออกกฎให้อาคารสูงติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED (Automated External Defibrillator) เพิ่มศักยภาพการช่วยชีวิตฉุกเฉินภาคประชาชน หนุนความต้องการซื้อและติดตั้งใช้งานจากภาคเอกชน คาดว่าจะเข้ามาไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท รุกสร้างการเติบโตในระยะยาว

ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ผู้ดำเนินจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางด้านระบบการหายใจและช่วยชีวิต เปิดเผยว่า อีกก้าวสำคัญหนึ่งของการยกระดับมาตรฐานการช่วยชีวิตฉุกเฉินภาคประชาชนในประเทศไทย เมื่อกระทรวงมหาดไทยประกาศกฎกระทรวง กำหนดให้อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะ ต้องติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ หรือ AED (Automated External Defibrillator) และต้องมีพื้นที่สำหรับรถฉุกเฉิน รวมถึงต้องจัดให้มีลิฟท์ที่มีขนาดสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินได้ โดยจะมีผลบังคับใช้นับจากวันที่ประกาศ (4 มิ.ย.64) ในอีก 180 วัน

สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ โดยในปัจจุบัน SMD ได้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องมือประเภทนี้ให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่แล้ว โดยประเมินว่าเมื่อภาครัฐมีมาตรการดังกล่าวข้างต้น จะส่งผลดีต่อยอดคำสั่งซื้อของ SMD ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีเข้ามาไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

"มาตรการภาครัฐครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการช่วยชีวิตฉุกเฉินภาคประชาชนของประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมี AED ติดตั้งใช้งานกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน โรงงาน โรงแรม โรงเรียน สถานที่ราชการและเอกชนอื่นๆ รวมกันแล้วประมาณ 30,000 เครื่อง แต่เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะจำนวน 600,000 เครื่อง และเกาหลีติดตั้งแล้วประมาณ 200,000 เครื่อง ก็ยังถือว่าประเทศไทยมีเครื่อง AED น้อยมาก ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ คาดว่าประเทศไทยจะมี AED ใกล้เคียงกับประเทศเกาหลี ภายใน 5 ปีข้างหน้า จะทำให้ประชาชนที่ประสบเหตุหัวใจหยุดเต้นเฉียบหลันนอกโรงพยาบาลมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น ใกล้เคียงกับนานาอารยประเทศในทวีปเอเชีย" ดร.วิโรจน์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ