ม.มหิดล มอบองค์ความรู้บริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนแก่ "กระดูกสันหลังของชาติ"

ข่าวทั่วไป Monday July 19, 2021 09:14 —ThaiPR.net

ม.มหิดล มอบองค์ความรู้บริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนแก่

วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ตรงกับวันเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับฤดูฝน และ"เทศกาลปลูกข้าวนาปี" ของชาวนาไทย ซึ่งเปรียบเสมือน "กระดูกสันหลังของชาติ" ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าว คือ"จุดกำเนิดแห่งชีวิต" และเป็นทรัพยากรซึ่งเป็น "แหล่งอาหารสำคัญ" ของมวลมนุษยชาติ ที่พึงอนุรักษ์เพื่อการสืบต่อสู่รุ่นลูกหลานอย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล อรุณรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเกษตรแนวใหม่ ได้อธิบายถึงลักษณะการปลูกข้าวของ ชาวนาไทยว่า โดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบ แบบแรก คือ "การปลูกข้าวนาปี" ซึ่งได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 105 ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทย และเป็นที่ชื่นชอบของทั่วโลก โดยมีการออกดอกตรงตามฤดูกาล เนื่องจากต้องการช่วงแสงจำเพาะเพื่อการออกดอก รวมถึงข้าวพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ในประเทศไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และอีกแบบ คือ "การปลูกข้าวนาปรัง" ที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี เป็นข้าวที่มีอายุการเก็บเกี่ยวที่แน่นอน สามารถให้ผลผลิตตามอายุ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล อรุณรัตน์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวว่า เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้าง "ความมั่นคงทางอาหาร" ให้กับชุมชนซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนมี "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" ต่อไปอีกด้วย ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี 1 เมล็ด เมื่อนำไปปลูกจะได้ต้นข้าว 1 กอ ที่แตกออกมาเป็น 20 ลำต้นโดยประมาณ ซึ่งแต่ละลำต้นจะออกรวงให้เมล็ดพันธุ์ข้าวอีกขั้นต่ำ 100 - 150 เมล็ดรวมข้าวทั้ง 20 ลำต้น จะได้เมล็ดพันธุ์ใหม่ถึง 2,000 - 3,000 เมล็ด

นอกจากนี้ หากเราใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีในการปลูก จะใช้เพียง 10 - 12 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ แต่หากนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวจากการปลูกครั้งที่ผ่านมา มาใช้โดยไม่ได้มีการคัดสรร อาจจำเป็นต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า หรือประมาณ 25 - 30 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตามหลักการของ "เกษตรอัจฉริยะ" หรือ "Smart Farming" โดยฝากความหวังไว้กับ "เกษตรกรรุ่นใหม่ในชุมชน" หรือ "Young Smart Farmer" ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพล อรุณรัตน์ เล่าว่า ที่ผ่านมาตนได้นำทีมวิจัยลงพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ พิจิตร ยโสธรและพัทลุง เพื่อดำเนินโครงการวิจัย "การจัดการความรู้เพื่อการบริหารจัดการพันธุ์ข้าวและกระบวนการจัดการเครือข่ายของ Young Smart Farmer เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม" ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs Goal ข้อที่ 12 ที่ว่าด้วยการบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production) ซึ่งเป็นงานวิจัยเด่นที่เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำหน้าที่มอบองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถบริหารจัดการและอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ข้าวของท้องถิ่นได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพึ่งพาซึ่งกันและกันซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนต่อไป

ทีมวิจัยได้จัดทำคู่มือเพื่อการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่พร้อมด้วยองค์ความรู้เพื่อการประยุกต์ใช้ โดยได้รวบรวมพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกในแต่ละพื้นที่ ลักษณะการเจริญเติบโตขั้นตอนการดูแล ซึ่งสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศในพื้นที่นั้นๆ ฯลฯ โดยหวังให้เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถนำเอาองค์ความรู้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากการรวมกลุ่มเพื่อนเกษตรกรเพื่อร่วมแบ่งปันทรัพยากร คือ การลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในเรื่องCarbon Footprint หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และWater Footprint หรือ ตัวชี้วัดปริมาณการใช้น้ำ นอกเหนือจากผลผลิตที่ได้จากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ

"ข้าว 1 เมล็ดที่ผลิตได้ จะต้องช่วยให้เพื่อนชาวนามีผลผลิตที่ดี มีรายได้ที่ดี และมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ด้วยความสมดุลกันระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน จึงจะเป็นการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพลอรุณรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ