CITE DPU แนะ 8 อาชีพด้าน digital skills รายได้ สวนกระแสในยุค new normal
ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (CITE DPU) เปิดเผยว่า สถานการณ์ Digital disruption และ การระบาดของ Covid-19 ก่อให้เกิดนิยาม new normal หรือ การดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติใหม่ ซึ่งเชื่อได้ว่าทุกคนได้ซึมซับ หรือผ่านการดำเนินชีวิตในลักษณะดังกล่าวมาแล้วสักระยะหนึ่ง และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าความปกติใหม่นี้มีความต้องการทักษะด้านดิจิทัล (digital skills) ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การใช้งานสื่อออนไลน์เพื่อการทำงานต่าง ๆ การทำงานจากระยะไกล การย้ายการประมวลผลไปใช้งานระบบคลาวด์มากขึ้น การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การใช้งานแอพพลิเคชันผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างกว้างขวาง การป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีความสามารถทางด้านทักษะดิจิทัลที่มีความสามารถสูง เช่น วิศวกรคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ นักการตลาดดิจิทัล นักวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น นอกจากแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่ยิ่งกลับได้รับผลตอบแทนที่สูงมากขึ้นอีกด้วย
ดร.ชัยพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์ JobDB ระบุสายงานที่มีทักษะด้านไอทีและด้านดิจิทัล มีรายได้อยู่ระหว่าง 20,000 - 100,000 บาท สำหรับนักศึกษาจบใหม่ โดยขึ้นอยู่กับคุณวุฒิและความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล ทั้งยังเป็นทักษะแรงงานที่นายจ้างมีความต้องการมากขึ้นด้วย ดังนั้น อาชีพที่มีการใช้ทักษะทางดิจิทัลและคาดว่าเป็นแนวโน้มที่ควรจะวางแผนศึกษาหรือ reskill/upskill กันไว้ เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุค new normal ประกอบด้วย 8 สายงานอาชีพด้วยกัน ได้แก่
นักวิเคราะห์ตลาดออนไลน์ คือ ผู้ที่เข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของลูกค้า ช่องทางสื่อออนไลน์ และวิธีการวางแผนการตลาดแบบออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องการผู้ที่มีความเข้าใจรูปแบบสื่อออนไลน์ที่มีมากมายหลายสื่อ เช่น เฟสบุค ยูทูบ อินสตาร์แกรม ไลน์ เป็นต้น โดยแต่ละสื่อก็มีวิธีการสื่อสาร และกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน
โปรแกรมเมอร์และวิศวกรซอฟต์แวร์ เป็นอาชีพที่สุดฮอตอาชีพหนึ่ง เพราะเราจำเป็นต้องใช้งานแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ทั้งจากเว็บ โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ เพื่อทั้งการทำงาน การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นโปรแกรมเมอร์จึงเป็นอาชีพที่ขาดไม่ได้ในการสร้างสรรค์แอพพลิเคชันต่าง ๆ เหล่านี้
วิศวกรคอมพิวเตอร์ เป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการมากอีกอาชีพหนึ่ง กล่าวได้ว่าผลิตมาเท่าไรก็ไม่พอป้อนตลาดที่มีความต้องการสูงมากในปัจจุบัน เนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นต้องมีบุคลากรไว้คอยดูแล แก้ปัญหา หรือสร้างระบบหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการทำงานต่าง ๆ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ระบบประมวลผลคลาวด์หรืออินเทอร์เน็ต
วิศวกรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ค่อนข้างจะเป็นอาชีพใหม่สำหรับประเทศไทย แต่มีความต้องการสูงมาก เนื่องจากความเสียหายที่เกิดจากภัยคุกคามทางคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตมีจำนวนและมูลค่าสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี ดังนั้นหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานระบบเหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
นักวิเคราะห์ข้อมูลและวิศวกรข้อมูล อาชีพนี้หลายคนอาจยังไม่รู้จัก แต่ยืนยันได้เลยว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงมากอีกอาชีพหนึ่ง เนื่องจากหลาย ๆ หน่วยงานเริ่มรู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและสร้างโอกาสในการทำกำไรของหน่วยงานได้มากขึ้นนั่นเอง จึงจำเป็นต้องมีนักวิเคราะห์ข้อมูลและวิศวกรข้อมูลเพื่อมาทำหน้าที่เหล่านี้ต่อไป
วิศวกรด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ กล่าวได้ว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราจะได้เห็นการมีบทบาทของปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นอาชีพที่เกี่ยวข้องการสร้างปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จึงเป็นอาชีพที่น่าสนใจอย่างมากในระยะยาว
นักโลจิสติกส์ เป็นอาชีพที่ดูจะไม่เกี่ยวกับทักษะทางดิจิทัล แต่จริง ๆ แล้วเราจะพบว่าในปัจจุบันมีการใช้งานระบบออนไลน์เพื่อการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะมีมูลค่ามากกว่าการจำหน่ายในช่องทางหน้าร้านในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งการสร้างระบบโลจิสติกส์ที่ดีจำเป็นต้องบูรณการกับระบบออนไลน์หรือระบบคอมพิวเตอร์ มีการวางแผนที่ดีเพื่อลดการสั่งซื้อสินค้ามาสต๊อกไว้ หรือแม้แต่การสร้างระบบการผลิตตามการสั่งสินค้าของลูกค้า ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้เป็นอย่างมาก
ผู้บริหารที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการทำงานต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมากคือ ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อควบคุมกำกับการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ข้อมูลต่าง ๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารต้องเข้าใจหลักปฏิบัติหรือแนวทางที่ถูกต้อง
วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลงและความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลต่าง ๆ และเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในยุค new normal จึงจัดหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีคุณภาพให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาการข้อมูล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ วิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ การจัดการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และการจัดการทางวิศวกรรม ซึ่งผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ cite.dpu.ac.th