ก.ล.ต. เชิญชวนบริษัทจดทะเบียนและหน่วยงานในภาคตลาดทุนร่วมกันผนึกกำลังเพิ่มการจ้างงานคนพิการ เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการใช้ศักยภาพของตนเองในการทำงานและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียม โดยบริษัทสามารถนำข้อมูลการดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อสื่อสารกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านการเปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1 One Report)
สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดสัมมนาออนไลน์ "ให้กลไกตลาดทุนเกื้อหนุนผู้พิการสร้างงานสร้างอาชีพ" โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "เปิดมุมมอง ปรับแนวคิด เข้าใจคุณค่าของผู้พิการ" เพื่อส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนร่วมสนับสนุนคนพิการให้มีโอกาสในการทำงาน พัฒนาตนเอง และหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว โดยถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์เพจสำนักงาน กลต. เพจกระทรวงแรงงาน และเพจกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564
ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า "งานสัมมนาในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เพิ่มการจ้างงานคนพิการ เพิ่มการจัดสัมปทาน และเพิ่มกิจกรรมทางสังคม เพื่อให้คนพิการสามารถได้รับความช่วยเหลือในหลายๆ เรื่อง มีโอกาสที่จะพัฒนา หารายได้เลี้ยงดูตนเอง และได้รับโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชนและภาครัฐเข้าด้วยกัน และสร้างกลไกตลาดทุนเพื่อเกื้อหนุนผู้พิการสร้างงานสร้างอาชีพ โดยกระทรวงแรงงาน และคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ มีความพร้อมที่จะร่วมดำเนินการเพื่อให้เรื่องดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม"
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "ก.ล.ต. มีภารกิจในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนและประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำผนวกเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ โดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) และตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (แผน NAP) ก.ล.ต. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมขับเคลื่อนจึงได้ร่วมกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้
ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรมด้านสังคมเพื่อคนพิการให้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจจากตัวอย่างของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนที่มีการจ้างงานคนพิการ ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมที่สามารถสนับสนุนและช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวได้ ดังนั้น ก.ล.ต. จึงขอเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมถึงหน่วยงานในภาคตลาดทุน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ร่วมผนึกกำลังในการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น และตั้งเป้าหมายขององค์กรให้ดำเนินการได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดตามบริบทของตนเอง โดย "เพิ่มการจ้าง มีการจัด และลดการจ่าย"
พร้อมนี้ บริษัทจดทะเบียนสามารถนำผลการดำเนินการในเรื่องนี้มาเปิดเผยในแบบ 56-1 One Report ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนภาพลักษณ์การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อสื่อสารกับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของบริษัทอีกด้วย ก.ล.ต. หวังว่าการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่กล่าวมาของภาคธุรกิจ จะช่วยสร้างโอกาสให้แก่คนพิการสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ และมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยนำไปสู่การนำพาธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป"
สำหรับงานสัมมนาออนไลน์ "ให้กลไกตลาดทุนเกื้อหนุนผู้พิการสร้างงานสร้างอาชีพ" มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคนพิการให้มากขึ้นใน 3 เรื่องคือ "เพิ่มการจ้าง มีการจัด และลดการจ่าย" โดยมุ่งให้ภาคเอกชนเพิ่มการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 สร้างกิจกรรมหรือมีการจัดงานหรือกิจกรรมตามมาตรา 35 รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการฝึกงานหรือฝึกอบรม เพื่อให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ มีความรู้ไปประกอบอาชีพต่อไปได้ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้สถานประกอบกิจการลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนด้วย
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการส่งเสริมเรื่องคนพิการสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย ทั้งการจัดสัมมนาเพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการจ้างงานคนพิการและลดการกีดกันในกระบวนการจ้างงาน และได้ออกหนังสือเวียนเพื่อเชิญชวนและรณรงค์ให้บริษัทจดทะเบียนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมอาชีพและการจ้างงาน รวมถึงการสร้างโอกาสให้คนพิการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับการรับคนพิการเข้าทำงานตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยในปี 2564 ก.ล.ต. มีการจ้างงานคนพิการ จำนวน 8 คน ซึ่งเป็นคนพิการทำงานตามมาตรา 33 และจัดให้มีสัมปทานเพื่อให้คนพิการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรา 35 โดยสนับสนุนการเปิดร้าน Cafe Amazon for Chance ซึ่งส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ณ ชั้น G ของสำนักงาน ก.ล.ต. รวมถึงการจ้างคนพิการทางสายตามาให้บริการนวดบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) แก่พนักงาน และได้มีการจัดสถานที่อำนวยความสะดวกต่อพนักงานและผู้ใช้บริการที่เป็นคนพิการ