เมื่อโชคชะตาทำให้ประตูแห่งความฝันและความสำเร็จทำได้ยากลำบากเป็นทวีคูณ คนพิการหลายๆรายอาจรู้สึกถึงความยากลำบากในการเริ่มต้นใหม่เนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างแตกต่างกันออกไป อีกทั้งโอกาสและเส้นทางเริ่มต้นสำหรับคนพิการนั้นมีอยู่อย่างจำกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดย ศูนย์วิจัยและบริการชุมชนและสังคม ร่วมกับศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง ได้หยิบยื่นโอกาสให้กับคนพิการที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นรุ่นที่ 8 ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาตรา 35 ในปี พ.ศ. 2564 ได้รับการสนับสนุนโครงการจากสถานประกอบการ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ดานิลี่ จำกัด บริษัท ศรีไทยมิยากาว่า จำกัด บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อที่คนพิการจะสามารถเปิดประตูบานใหม่ไปสู่โลกที่พวกเขาสามารถประกอบอาชีพที่มั่นคงและยืนหยัดอยู่ในสังคมได้ด้วยตนเองอย่างมีความสุข
นางสาวนภัสสร บุญปก (ฟ้า) ผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ รุ่นที่ 8 ในหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน เล่าให้ฟังว่า ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ฟ้าจบการศึกษาด้านการโรงแรม จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรียนดีระดับเกียรตินิยม หลังจากเรียนจบยังไม่ได้เริ่มต้นทำงานก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน ขับรถยนต์ประสบอุบัติเหตุ ต้องเข้ารับการผ่าตัดสมอง ทำให้ร่างกายซีกซ้ายมีอาการอ่อนแรง จากนั้นได้เข้ารับการฟื้นฟูร่างกายที่สถาบันสิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ และฟ้าได้พบกับ นางสาวนราวดี รองพล (อิ่ม) และได้ทราบว่าอิ่มเคยเข้ารับการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ กับ มจธ. และปัจจุบันได้ทำงานอยู่ในส่วนประสานงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการของ มจธ. จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฟ้าได้รู้จักกับโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. เมื่อฟ้ามีอาการดีขึ้นและเริ่มที่จะช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ได้ทราบข่าวการเปิดโครงการ จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการในทันที
"เพราะมีความตั้งใจที่อยากจะทำงานที่มั่นคงและสามารถดูแลตนเองได้ จึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ คนพิการที่ยังไม่มั่นใจสำหรับการออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ให้ลองเปิดโอกาส เพราะตอนนี้ฟ้ารู้สึกดีที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ได้มาเจอเพื่อนและสังคมใหม่ๆ" ฟ้ากล่าว
นายอภิชัย มั่นใจ (กบ) อีกหนึ่งผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ รุ่นที่ 8 ในหลักสูตรการผลิตสื่อ/สิ่งพิมพ์ดิจิทัล เล่าให้ฟังว่า จบการศึกษาสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. ชั้น ม.6 จากนั้นเข้าเรียนต่อในระดับ ปวส. ด้านการตลาด ควบคู่กับการทำงานด้านขนส่งโลจิสติกส์ ขณะเรียนปวส.ได้ 1 ปี เกิดประสบอุบัติเหตุขณะขับรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้กบมีอาการอ่อนแรงท่อนล่างตั้งแต่สะดือลงไป อุบัติเหตุเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ในช่วงนั้นไม่มีรายได้ ใช้จ่ายจากเงินที่ได้รับจากประกันสังคมและทางบ้านช่วยเหลือ กบได้เข้ารับการฟื้นฟูร่างกายที่สถาบันสิรินธรฯ เช่นเดียวกับฟ้า สิ่งที่จุดประกายให้กบอยากลองทำอะไรใหม่ๆ คือ นักสังคมสงเคราะห์ที่ศูนย์ฯได้แนะนำให้กบเรียนต่อ หรือลองฝึกงาน ขณะนั้นกบเริ่มมีความคิดอยากลองไปฝึกงานหรือเรียนต่อเช่นกันแต่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาก เมื่อศักยภาพทางร่างกายดีขึ้น ทางศูนย์ฯ ประเมินว่าสามารถให้อยู่คนเดียวได้ ช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว กบจึงเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อมีเพื่อนแนะนำโครงการการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ มจธ. จึงไม่ลังเลที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการ
"อยากให้เพื่อนๆ คนพิการลองตัดสินใจในการพัฒนาตนเอง ริเริ่มทำอะไรบางอย่าง โลกสมัยนี้เปลี่ยนไปเป็นออนไลน์มากขึ้น ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ทำให้มีทางเลือกมากขึ้น แม้โครงการฯเพิ่งเริ่มต้นแต่ตอนนี้รู้สึกดี สนุกที่ได้เจอเพื่อนใหม่ในโครงการ" กบ กล่าว
โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ รุ่นที่ 8 ดำเนินโครงการโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งได้มีพิธีเปิดโครงการ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์สุชาติ เพริดพริ้ง ที่ปรึกษาอธิการบดี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ อาจารย์สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มจธ. กล่าวต้อนรับ โครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านการประกอบอาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ มีทักษะ ความรู้ ที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และเพื่อเป็นทางเลือกให้สถานประกอบการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน และสร้างเครือข่ายร่วมกันของสถานประกอบการ คนพิการ และองค์กรที่รับผิดชอบ
ในปีนี้ ได้มีการจัดอบรม 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน หลักสูตรการผลิตสื่อ/สิ่งพิมพ์ดิจิทัล และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น มีคนพิการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 56 คน ระยะเวลาการฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2564 รวม 6 เดือน โดยใช้โปรแกรม Zoom Meeting ในการบรรยาย และมีระบบ Moodle ในรูปแบบ e-learning มาใช้เพื่อการเรียนรู้ควบคู่กัน ซึ่งคณะทำงานเข้าใจถึงข้อจำกัดการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับคนพิการ โดยได้แก้ปัญหาและปรับเนื้อหาให้มีความเหมาะสม ทั้งด้าน กระบวนการอบรม เครื่องมือที่ใช้เพื่อการเรียนรู้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งนี้คนพิการที่เข้าร่วมโครงการจะยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับการมาฝึกอบรม ณ มจธ. เช่น เบี้ยเลี้ยง วัสดุอุปกรณ์การเรียนรู้ และเครื่องมือที่ใช้ในการฝึก อินเทอร์เน็ต และแท็บเล็ต เพื่อใช้งานตลอดระยะเวลาของการฝึกอบรม-ฝึกงานฯ