คุณรู้หรือไม่ ตับเป็นอวัยวะภายในที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายของเรา มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ได้แก่ ขจัดสารพิษออกจากร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันกำจัดเชื้อโรค ผลิตน้ำดีเพื่อย่อยอาหารประเภทไขมัน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผลิตสารประเภทโปรตีนที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด เป็นที่สะสมพลังงานของร่างกายเพื่อดึงมาใช้ยามจำเป็น และยังเป็นที่เก็บวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ อีกด้วย ตับสำคัญอย่างนี้ แล้วเราจะดูแลอย่างไร
นพ. ศุภพัชญ ศรีภูษณาพรรณ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับจากAddlife Digestive and Liver Centerชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้ให้ข้อมูลเรื่องตับว่าตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง และยังเป็นอวัยวะที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่หากได้รับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดการทำลายตับเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้ตับได้รับความเสียหายได้อย่างถาวร และกลายเป็นโรคต่างๆ ตามมา
โรคของตับที่พบได้บ่อย คือ มะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งอันดับ 1ในผู้ชายไทย และโรคตับแข็งซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของประชากรโลก โดยปัจจัยที่อาจนำไปสู่โรคตับเหล่านี้ ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี
- ความอ้วนและพฤติกรรมการบริโภค
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- การได้รับยาบางประเภท หรือสารพิษต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ภาวะไขมันเกาะตับ
- โรคทางพันธุกรรมและเมตาบอลิก เช่น โรคเบาหวาน
เมื่อทราบปัจจัยเสี่ยงแล้ว การจะดูแลตับให้สุขภาพดี ห่างไกลโรคก็ไม่ใช่เรื่องยากถ้าเรารู้จักดูแลและป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค ดังนี้
- ปรับพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว ลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการซื้อยา อาหารเสริมหรือสมุนไพรรับประทานเองโดยไม่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีกรณียังไม่มีภูมิคุ้มกัน
- หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีโดยปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองโรคตับได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การตรวจเอนไซม์ตับ ตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) และการตรวจ Fibro Scan
Fibro Scan เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยที่สามารถตรวจภาวะพังผืดในตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยสามารถตรวจประเมินสภาวะพังผืดในเนื้อตับได้ในผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งระยะแรกๆ รวมถึงติดตามผลประเมินระดับความรุนแรงเพื่อวางแผนการรักษาและวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งแทนการเจาะเนื้อตับได้ นอกจากนี้ยังสามารถประเมินและแสดงปริมาณไขมันสะสมในตับสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) ได้พร้อมกันภายในครั้งเดียวอย่างรวดเร็วและตรงจุดชัดเจน
ซึ่งการตรวจหาความผิดปกติของตับก่อนแสดงอาการ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพประจำปีนะคะ