ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ชุดใหม่ของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย ที่ระดับ 'A+(tha)'

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 2, 2021 16:58 —ThaiPR.net

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long Term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ที่กำลังจะออกเสนอขายของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ที่ระดับ 'A+(tha)'

เงินที่จะได้จากการออกหุ้นกู้ชุดที่ 2/2564 ดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568 จะถูกนำไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ชุดที่ 3/2560 ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม 2564

หุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC และ SCC มีจำนวนหนี้สินที่มีหลักประกันและหนี้ที่มีลำดับสิทธิสูงกว่าหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอยู่ในระดับที่จำกัด

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุน - ฟิทช์เชื่อว่า SCC มีความสามารถในการรองรับแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 8-9 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ได้โดยที่จะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ที่ระดับประมาณ 3.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่ยังสอดคล้องกับอันดับเครดิต 'A+(tha)' ของบริษัทฯ (สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 2.0 เท่า) โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการปิโตรเคมีที่ประเทศเวียดนาม (Long Son Petrochemicals: LSP) ซึ่งน่าจะเริ่มสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ในปี 2566 รวมถึงเงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการต่างๆ ในธุรกิจแพคเกจจิ้ง

SCC มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (spreads) ในธุรกิจเคมิคอลส์ที่สูงกว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าวัสดุก่อสร้างและการขยายธุรกิจแพคเกจจิ้ง ซึ่งสามารถชดเชยการชะลอตัวของธุรกิจปูนซีเมนต์จากกิจกรรมก่อสร้างที่ลดลงจากมาตรการจำกัดการเดินทางและการเคลื่อนย้ายเพื่อจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในภูมิภาค ผลประกอบการที่แข็งแกร่งดังกล่าวประกอบกับเงินเพิ่มทุนจากการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัทย่อยของ SCC ได้แก่บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในปี 2563 ส่งผลให้ SCC มีความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

อัตราการเติบโตของ EBITDA ที่แข็งแกร่ง - ฟิทช์คาดว่า SCC จะสามารถสร้างกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในระดับประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ปีละ 6 หมื่นล้านบาท โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก spreads ในธุรกิจเคมิคอลส์ที่แข็งแกร่งและการขยายธุรกิจแพคเกจจิ้ง ฟิทช์เชื่อว่า SCC จะยังคงได้รับประโยชน์จากการเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (high-value-added หรือ HVA) และมาตรการลดต้นทุนในทุกธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ เคมิคอลส์ ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง และแพคเกจจิ้ง

การกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น - ฟิทช์คาดว่าการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ SCC จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อโครงการ LSP ในประเทศเวียดนามเริ่มดำเนินการผลิตในปี 2566 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะรองรับการเติบโตของความต้องการโพลิเมอร์ภายในประเทศที่แข็งแรง ซึ่งในปัจจุบันยังคงพึ่งพาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ การกระจายความเสี่ยงมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น ความผันผวนของ spreads ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และการพึ่งพิงอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศของธุรกิจปูนซีเมนต์

สถานะความเป็นผู้นำตลาด - SCC มีสถานะเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในหลายประเทศในอาเซียน สำหรับกลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนรายได้จากฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนและการส่งออกไปยังภูมิภาคดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อโครงการ LSP เริ่มเปิดดำเนินการ นอกจากนี้ SCC ยังมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ทั่วโลกนอกเหนือจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 ของรายได้รวมในปี 2563

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, 'A(tha)'/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งอยู่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดของปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่า ได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้ SCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC เพียงหนึ่งอันดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิต 'AA+(tha)' แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, อันดับเครดิตโดยลำพัง 'aa-(tha)') ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีขนาดของธุรกิจเคมิคอลส์ที่เล็กกว่า PTTGC แต่ SCC มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของธุรกิจเคมิคอลส์น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCC หนึ่งอันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้เติบโตในอัตราร้อยละ 10-15 ต่อปี ในปี 2564 และร้อยละ 3-5 ต่อปี ในปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการซื้อที่ยังคงแข็งแกร่ง และการขยายกำลังการผลิตของธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง
  • EBITDA Margin ยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 15-17 ในปี 2564-2565 (ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 16 และครึ่งปีแรกของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 18) ถึงแม้ว่า ฟิทช์มองว่า spreads ในธุรกิจเคมิคอลส์จะลดลงในปี 2565
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2564-2565
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40-50 ในปี 2564-2565

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

  • ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เว้นแต่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ LSP ในประเทศเวียดนาม
    ปัจจัยลบ:
  • FFO net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี: SCC มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 9.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 5.0 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 6.0 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

ฟิทช์คาดว่าสภาพคล่องของ SCC ในช่วงสองปีข้างหน้ายังต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากภายนอก เนื่องจากแผนค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตาม SCC ได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงินสำหรับโครงการลงทุนหลักแล้ว โดย SCC มีวงเงินสินเชื่อระยะยาวจากสถาบันการเงิน ที่คงเหลือใช้ได้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 จำนวน 9.0 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นวงเงินกู้สำหรับโครงการ LSP จำนวน 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท)

ข้อมูลบริษัท
SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มี EBITDA อยู่ที่ระดับ 7 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนล่าสุดนับจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 SCC มีการกระจายความเสี่ยงในสามธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในหลายประเทศในอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ