ภายในงานเสวนา "เร่งเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อการร่วมมือที่แข็งแกร่งในเอเชียแปซิฟิก - เชื่อมต่ออุตสาหกรรมดิจิทัลท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด (Accelerate Digital Economy for Inclusive Integration in Asia Pacific - Connecting Digital Industries in Pandemic)" ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงาน เรียกร้องให้มีการนำโอกาสใหม่ ๆ ในโลกดิจิทัลมาสร้างอีโคซิสเต็มที่ไร้การแบ่งแยก พร้อมสนับสนุนการร่วมมือในภูมิภาคอันเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้กับโรคระบาดนี้
ฯพณฯ ยูฮารี โอรัตแมนกาน (H.E.Djauhari Oratmangun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เน้นในช่วงหนึ่งของการกล่าวปาฐกถาว่า "การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลนั้นถูกเร่งให้เร็วขึ้นในช่วงของโรคระบาด และเร่งให้ภาคธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดยอินโดนีเซียมุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตของเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อช่วยฟื้นฟูภาคสังคมและเดินหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง"
เมื่อดูจากองค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานที่มีแล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลนั้นเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของภูมิภาค รวมทั้งจะช่วยกระตุ้นการปรับตัวท่ามกลางภาวะโรคระบาด บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเข้ามามีส่วนช่วยสร้าง GDP ในภูมิภาคนี้ได้สูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปีนี้ สำหรับประเทศไทยเองก็มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP ของประเทศภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งหากดูจากแผนงานนโยบาย "Thailand 4.0" แล้ว เทคโนโลยี 5G IoT และคลาวด์จะร่วมกันสร้างรากฐานให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
"การพัฒนาอีโคซิสเต็มของเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลากหลายฝ่ายรวมถึงภาคเอกชน เรายินดีที่หัวเว่ยริเริ่มจัดงานเสวนานี้ขึ้นเพื่อเดินหน้าสนับสนุนเรื่องดังกล่าว" ดร. ลี ขวาง หลาน (Dr. Le Quang Lan) รองผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่าย ICT และท่องเที่ยว สำนักงานเลขาธิการอาเซียน หรือ ASEAN Secretariat กล่าว ภายใต้หัวข้อการนำอีโคซิสเต็มของเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาช่วยการฟื้นตัวภาคสังคมและความร่วมมือในระดับภูมิภาค
นายเจย์ เฉิน รองประธานหัวเว่ยเอเชียแปซิฟิกเผยว่า ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอีโคซิสเต็ม หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้แผนแม่บท Digital Masterplan 2025 ของอาเซียนเป็นจริง ผ่านสามแนวทาง ได้แก่ การเชื่อมต่อทาง ICT การสนับสนุนบุคลากรในด้านดิจิทัล และการร่วมสร้างอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางด้านดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น ช่วยทำให้สตาร์ทอัพมีโอกาสเติบโต รวมถึงช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืน
ดร. อัลวิน พี. อัง (Dr. Alvin P. Ang) จากมหาวิทยาลัย Ateneo de Manila University เห็นด้วยกับแนวทางที่ทุกคนควรจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้ เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ทางด้านดิจิทัลให้กับสังคม โดยกล่าวว่า "ระบบการศึกษาจะต้องรวมความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในหลักสูตรเบื้องต้น หลักสูตรสำหรับนักศึกษา หรือแม้แต่วัยทำงานก็ตาม องค์ความรู้เหล่านี้ต้องได้รับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และเราต้องเดินหน้าลงทุนเพื่อทำให้ชุมชนในชนบทสามารถก้าวทันเทคโนโลยีได้ โดยอย่างน้อยจะต้องมีการส่งมอบทักษะพื้นฐานในด้านนี้ให้พวกเขา"
ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเศรษฐกิจแบบดิจิทัล หัวเว่ยตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลให้แก่ทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เปิดตัวโครงการต่าง ๆ เพื่อฝึกทักษะด้าน ICT ให้แก่ประชาชนภายในภูมิภาคมากกว่า 100,000 คน จากการร่วมมือกับรัฐบาล มหาวิทยาลัย และองค์การไม่แสวงหาผลกำไรมากมายในประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทย หัวเว่ยได้จัดตั้งศูนย์ Huawei ASEAN Academy โดยร่วมมือกับธุรกิจในประเทศรวมถึงโรงเรียนด้านเทคนิคและวิศวกรรม เพื่อผลิตพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้ได้ถึง 100,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี
ด้วยวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ ศาสตราจารย์ โฆเซ่ เดโคลอนกอน (Professor Jose Decolongon) ประธานฝ่ายปฏิบัติการและกรรมการผู้จัดการด้านวิสัยทัศน์องค์กร บริษัทเอมบิกเกน ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและกลยุทธ์ (Embiggen Consulting) ในประเทศฟิลิปปินส์ ได้กล่าวว่า "ธุรกิจขนาดย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลางต่างต้องเข้าใจในการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเพื่อจะรู้เท่าทันโอกาส เมื่อมีการเปิดช่องทางด้านดิจิทัลให้แก่ธุรกิจ ไม่เพียงแต่ธุรกิจเหล่านี้เท่านั้นที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่าง ๆ องค์กรขนาดใหญ่ก็ยังต้องเผชิญความท้าทายดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับความสามารถด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้ครอบคลุมและรวดเร็ว และนี่คือจุดที่เหล่าธุรกิจโทรคมนาคมอย่างหัวเว่ยและบริษัทต่าง ๆ ในประเทศจะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ"
ในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ธุรกิจ SMEs กำลังกลายเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจ ในฐานะพันธมิตรผู้ส่งเสริมศักยภาพด้าน ICT หัวเว่ยมุ่งมั่นสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs ได้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นดิจิทัลและส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังที่หัวเว่ยได้เซ็นลงนามบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding - MoU) กับสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตรด้านดิจิทัลสำหรับธุรกิจ SMEs และประชากรกลุ่มเจเนอเรชัน Z ในยุคนิว นอร์มัล จวบจนปัจจุบันนี้ หัวเว่ยได้จัดการฝึกอบรมให้แก่บุคคลทั่วไปและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs สำเร็จลุล่วงไปแล้วเกือบ 10,000 รายด้วยกัน
สำหรับอีโคซิสเต็มของเศรษฐกิจดิจิทัลแบบยั่งยืนนั้น เทคโนโลยีใหม่อย่าง 5G, Internet of Things และคลาวด์ ล้วนมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์และเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนเป็นอย่างมาก โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หัวเว่ยได้เพิ่มการลงทุนสำหรับโซลูชันที่มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับการผลิตพลังงานสะอาด การคมนาคมโดยใช้ยานพาหนะพลังไฟฟ้า และการจัดเก็บพลังงานอย่างอัจฉริยะ
นายเจย์ เฉิน กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในอีก 5 ปีข้างหน้า เราอาจเห็นภูมิภาคอาเซียนมุ่งสู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่แห่งการเป็นสังคมยุคดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านนี้จะส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกสามารถฟื้นฟูจากโรคระบาดได้เร็วยิ่งขึ้น โดยหัวเว่ยพร้อมทั้งพาร์ทเนอร์ในภูมิภาคอาเซียน มุ่งมั่นสนับสนุนแผนแม่บท Digital Master Plan 2025 ของอาเซียน รวมถึงการสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่สังคมดิจิทัลและกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจชั้นนำแห่งนี้อีกด้วย"