ผู้นำเยาวชน-คนรุ่นใหม่ทั่วโลกร่วมเวที One Young World Summit 2021 สุดคึกคัก 20 ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากซีพีแสดงพลังขับเคลื่อนโลกที่ยั่งยืน จุดประกาย"ลงมือทำ-ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 3, 2021 13:37 —ThaiPR.net

ผู้นำเยาวชน-คนรุ่นใหม่ทั่วโลกร่วมเวที One Young World Summit 2021 สุดคึกคัก 20 ตัวแทนคนรุ่นใหม่จากซีพีแสดงพลังขับเคลื่อนโลกที่ยั่งยืน จุดประกาย

เมื่อเร็วๆนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ องค์กรที่มุ่งมั่นและสนับสนุนการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงโลกสู่ความยั่งยืนได้ส่ง 20 ตัวแทนเยาวชนและคนรุ่นใหม่จากกลุ่มธุรกิจในเครือฯ เข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติ One Young World Summit 2021 ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่างวันที่ 22-25 กรกฎาคม 2564 ณ Olympic Hall เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี โดยปีนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ได้ปรับรูปแบบเป็นการจัดประชุมเสมือนจริงผ่านทางออนไลน์ (Virtual Summit) และถ่ายทอดสดจากกรุงมิวนิคเพื่อออนไลน์ไปยังผู้เข้าร่วมทั่วโลก ซึ่งบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความคึกคัก มีตัวแทนเยาวชนและผู้นำคนรุ่นใหม่กว่า 1,700 คน จาก 170 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมเพื่อแสวงหาความร่วมมือและแนวทางแก้ปัญหาสำคัญต่าง ๆ ของโลกเพื่อนำไปสู่โลกที่ยั่งยืนในทุกมิติ โดยเครือซีพีตระหนักถึงการส่งเสริมและสร้างบทบาทผู้นำเยาวชนคนรุ่นใหม่ของไทยที่จะขึ้นมาเป็น "The Change Maker" หรือผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้แก่สังคมและประเทศชาติ เพื่อเป็นพลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยในงานมี นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีประเทศเยอรมนี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน นายดีเทอร์ เรเทอร์ นายกเทศมนตรีเมืองมิวนิค พร้อมด้วย นางเคท โรเบิร์ตสัน และ นายเดวิด โจนส์ สองผู้ก่อตั้ง One Young World Summit ร่วมกล่าวเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า การจัดประชุม One Young World Summit ได้รวมเหล่าผู้นำคนรุ่นใหม่และเยาวชนที่มีศักยภาพจากประเทศต่างๆทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองสำคัญในแต่ละหัวข้อสำคัญของโลกที่ครอบคลุมในทุกมิติตั้งแต่การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การขจัดความยากจน เป็นต้น สำหรับปีนี้ถือเป็นโอกาสอันล้ำค่าของเมืองมิวนิคที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่จะทำให้มองประเด็นปัญหาของโลกที่เกิดขึ้นผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ และเป็นรากฐานสำคัญในการหารือแนวทางแก้ปัญหาโลกได้อย่างตรงจุด และนำไปสู่การเตรียมความพร้อมที่จะรับมือต่อปัญหาที่เป็นวิกฤตเร่งด่วน ทั้งยังเป็นเวทีที่ได้รวมคนรุ่นใหม่อย่างพร้อมเพรียงเพื่อให้เราตระหนักว่า เราจะสามารถเอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกไปด้วยกันได้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤตเสียขวัญมาเป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่ง งานประชุมนี้จึงถือเป็นทั้งโอกาสและความคืบหน้าที่ดีขึ้นของโลกใบนี้ที่แม้การจัดประชุมอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากจากวิกฤตโควิด-19 แต่เชื่อมั่นว่าจะจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้กับเราทุกคน

สำหรับการประชุม One Young World 2021 ได้วางประเด็นหารือแนวทางแก้ปัญหาวิกฤตสำคัญของโลกไว้ด้วยกัน 6 ประเด็น คือ 1.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(Climate Crisis) 2.การศึกษา (Education) 3.สิทธิและเสรีภาพ (Rights & Freedom) 4.การแก้ปัญหาความขัดแย้ง (Conflict Resolution) 5.การพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต (Future Economies) และ 6.บทเรียนจากโรคระบาด (Lessons from The Pandemic) พร้อมกันนี้ยังได้เชิญตัวแทนผู้นำ ผู้มีชื่อเสียงระดับโลกมาร่วมปาฐกถาพิเศษเพื่อจุดประกายการเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้วย อาทิ ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้ริเริ่มแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม นายโรแลนด์ บุช ประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท ซีเมนส์ เอจี เยอรมนี นายโธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี (IOC) เซอร์บ๊อบ เกลดอฟ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดังในประเด็นการต่อต้านความยากจนในแอฟริกา ศาสตราจารย์ โชชาน่า ซูบอฟ (Professor Shoshana Zuboff) นักวิชาการชื่อดังด้านสิทธิและเสรีภาพ และนางแองเจล่า หวัง (Angela Hwang) สมาชิกของทีมผู้บริหารของไฟเซอร์และประธานกลุ่มของกลุ่มบริษัท ชีวเภสัชภัณฑ์ของไฟเซอร์ เป็นต้น

นายดีเทอร์ เรเทอร์ นายกเทศมนตรีมิวนิค กล่าวเปิดงานว่า หัวใจสำคัญของการประชุมผู้นำรุ่นใหม่ระดับโลกครั้งนี้ คือ 'Pacmaso' หรือ การลงมือทำ การร่วมแรงร่วมใจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างความสำเร็จไปด้วยกัน โดยการรวมตัวกันของตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่จากทั่วโลกครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่จะได้ผนึกกำลัง ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่อประเด็นสำคัญทางสังคมถึง 6 ประเด็นที่ต้องใช้พลังคนรุ่นใหม่มาร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วนนี้

ด้าน นางเคท โรเบิร์ตสัน และ นายเดวิด โจนส์ สองผู้ก่อตั้งเวทีการประชุมผู้นำรุ่นใหม่ ได้กล่าวต้อนรับเหล่าตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่และพูดถึงบทบาทของเวทีนี้ว่าจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำรุ่นใหม่ทั่วโลกที่จะก้าวออกไปเป็นผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงโลก และมุ่งหวังว่าจะได้จุดประกายให้เกิดหนทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ ผ่านกิจกรรมและโครงการที่ผู้นำเยาวชนของแต่ละประเทศจะร่วมกันขับเคลื่อนต่อไปเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ร่วมผนึกมุมมองที่แตกต่างทางความคิดเพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในโลกใบนี้ เพราะเชื่อมั่นว่าความหลากหลาย คือ จุดแข็งของโลกยุคใหม่

สำหรับบรรยากาศตลอดการประชุมเป็นไปอย่างน่าสนใจและคึกคัก โดยมีการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่กำลังเป็นประเด็นวิกฤตสำคัญของโลกมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเสนอแนวทางแก้ไข และกรณีศึกษาต่างๆ อาทิ นางแองเจล่า หวัง สมาชิกของทีมผู้บริหารของไฟเซอร์และประธานกลุ่มบริษัท ชีวเภสัชภัณฑ์ของไฟเซอร์ หนึ่งในผู้ถูกเลือกให้เป็นผู้หญิงที่มีอิทธิพลมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเล่าถึงเส้นทางความเป็นมาของวัคซีนไฟเซอร์ที่แสดงให้เห็นถึงความท้าทายและความกดดันต่าง ๆ เนื่องจากความต้องการที่จะให้ทุกคนได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในเวลาอันรวดเร็วที่สุด และได้ฝากแนวคิดไว้ให้เยาวชนรุ่นใหม่ว่า "ไม่ว่าจะทำอะไร จงตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะจะทำให้คุณหาหนทางเพื่อไปสู่ความความสำเร็จได้"

ในการประชุมครั้งนี้ยังมีตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นนำเสนอมุมมองประเด็นทางสังคมจากหลากหลายประเทศ อาทิ นายเจมี่ ครัมมี่ ผู้ร่วมก่อตั้ง Too Good to go จากไอร์แลนด์ ขึ้นพูดในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น.ส.ซาราห์ มาร์ดินี นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวซีเรียที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพให้แก่ผู้ลี้ภัย ได้นำเสนอประเด็น สิทธิเสรีภาพ และอิสรภาพในการแสดงออก น.ส.เรซ การ์ดี นักกฎหมายระหว่างประเทศและนักสิทธิมนุษยชนที่เกิดในแคมป์ผู้ลี้ภัยในปากีสถานได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และนายสุขมีต ซิงห์ นักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขชาวแคนนาดาที่มาถอดบทเรียนสถานการณ์โควิด-19 โดยได้ยกตัวอย่างประเทศอินเดียเป็นกรณีศึกษา

ด้านตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่จากเครือซีพีได้แสดงทัศนะต่อประเด็นท้าทายสำคัญของโลก โดย น.ส.จารุพร สุขเกษตร ตัวแทนจากกลุ่มเจียไต๋ ธุรกิจในเครือซีพี ซึ่งสนใจประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า สังคมหันมาสนใจปัญหานี้มากขึ้น แต่ยังไม่ได้มีการแก้ไขอย่างทั่วถึง ในฐานะที่ทำงานอยู่ในแวดวงเกษตรโดยตรง ทำให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจนทั้งจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรและผลผลิต ต่อเนื่องไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้และเร่งแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วให้มีประสิทธิภาพ เช่น การนำแนวคิดเกษตรแม่นยำเข้ามาช่วยพัฒนาขั้นตอนการผลิต รวมไปถึงการพัฒนาสายพันธุ์พืชที่ทนต่อความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ สภาพอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก จึงอยากเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่จะสร้างความตระหนักรู้โดยเชื่อว่าจะต้องเริ่มต้นจากตัวเราในการลงมือทำแก้ไขปัญหาและจุดประกายให้คนอื่นร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้

นายชยพัทธ์ ปทุมนากุล จากกลุ่มทรู ในเครือซีพี กล่าวถึงประเด็นด้านการศึกษาว่า การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสังคม เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ สิ่งที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการศึกษาให้เข้าถึงทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล โดยจะต้องมีการเสริมทักษะ upskills และ reskills ทางด้านดิจิทัลให้กับเยาวชนเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาในยุค 4.0

สำหรับการประชุม One Young World Summit 2021 ในปีนี้ได้สรุปปิดการประชุมด้วยการตอกย้ำความสำคัญในเรื่อง "ความหลากหลายทางความคิด" ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันสังคมให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต โดยต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้ได้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำ ตลอดจนพัฒนาทักษะองค์ความรู้ใหม่ๆขึ้นมารวมถึงการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดสิ่งเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอนาคตได้ สำหรับการประชุม One Young World Summit ในปี 2022 จะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ