"พลเอก ประวิตร" สั่งการ กอนช.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงท่วม - ขาดน้ำช่วงครึ่งหลังฤดูฝน จี้หน่วยงานเกาะติดเฉพาะจุดเสี่ยงเข้มข้น มอบ สทนช.ติดตามผลการสำรวจและการเตรียมความพร้อมฯ ของทุกจังหวัด หากส่อแววกระทบขยายวงกว้างลามมากกว่า 1 จังหวัด เร่งประสานก.มหาดไทยเร่งสกัดก่อนเกิดผลกระทบกับประชาชน
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช. ติดตามประเมินสถานการณ์ฝนในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนนี้อย่างใกล้ชิด ตามที่ได้รับรายงานจากการคาดการณ์ฝนล่วงหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า เดือนสิงหาคมฝนจะน้อยกว่าปกติถึงปลายเดือน ส่วนเดือนกันยายนฝนจะมากกว่าปกติ ยกเว้น ภาคตะวันออก ขณะที่เดือนตุลาคมนั้นฝนจะมากกว่าปกติค่อนข้างมากตั้งแต่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ลงไปครอบคลุมทั้งภาคใต้ ดังนั้น นอกจาก 10 มาตรการรับมือฤดูฝนที่เคยสั่งการไปแล้ว ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเน้นให้มีการดำเนินการลงไปถึงในพื้นที่เฉพาะเพิ่มเติมประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่
1.ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ขอให้หน่วยงานปฏิบัติปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พยายามเก็บกับน้ำไว้เป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้ง ทั้งในอ่างเก็บน้ำ แก้มลิงและในแหล่งน้ำสาธารณะ 2.ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ให้ความสำคัญเกี่ยวกับภัยที่จะเกิดจากฝนตกหนัก ทั้งในเรื่องน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลาดชัน และปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เฉพาะ ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก โดยใช้กลไกการทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานครเร่งสำรวจลงในรายละเอียดในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมขัง โดยให้จำแนกพื้นเสี่ยงภัย ออกเป็น พื้นที่เศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยของชุมชนเมือง ชุมชนชนบท และพื้นที่เกษตร พร้อมทั้งให้เตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการที่จะรองรับภัยในพื้นที่เฉพาะนั้นๆ ให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรมด้วย โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเนื่องถึงกันยายนขอให้เน้นย้ำการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรอการระบายอย่างเข้มข้น อาทิ การตรวจสอบอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งาน และการลดระดับน้ำในคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับควบคุมอยู่เสมอ ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ให้เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 3.มอบหมายให้ สทนช. ติดตามผลการสำรวจและการเตรียมความพร้อมฯของทุกจังหวัด รวมทั้ง กทม.อย่างใกล้ชิด และติดตามวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์หากมีโอกาสเกิดอุทกภัยเป็นวงกว้างครอบคลุมมากกว่า 1 จังหวัด ต้องประสานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยวางแผนเตรียมรับสถานการณ์ที่คาดว่ามีความรุนแรงจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และ 4.นอกจากฝนที่จะตกตามฤดูกาลที่มีโอกาสมากกว่าปกติแล้ว ขอให้ กอนช. ติดตามสถานการณ์พายุในช่วงปลายฤดูยังมีโอกาสเกิดพายุโซนร้อนทั้งในมหาสมุทรปาซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ตามที่ได้มีการคาดการณ์ว่าว่าจะมีอย่างน้อย 2-3 ลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมวางแผนเชิงป้องกัน การแจ้งเตือน การอพยพเคลื่อนย้าย และลดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนล่วงหน้าได้ทันต่อสถานการณ์ด้วย
ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กนอช.ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ในสัปดาห์หน้าเพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการด้วยตนเองอีกด้วย.