กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กทม.
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 48 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน กล่าวนำถวายพระพร และกล่าวเปิดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันประสูติพระโอรส ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นการเปิดพร้อมกับสถานที่จัดงานอีก 7 จุด โดยผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในเวลา 18.35 น. อันถือเป็นมงคลฤกษ์ตรงกับเวลาประสูติของพระโอรส โดยมีคณะทุตานุทูต ข้าราชการ เอกชน และประชาชน ร่วมเป็นเกียรติ
ราษฎร์- รัฐ ร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อมิ่งขวัญชาวไทย
กรุงเทพมหานครได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทาน พระราชานุญาตให้จัดงานเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันประสูติพระโอรส ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ โดยกำหนดจัดกิจกรรมขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันศุกร์ที่ 24 และวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2548 ตั้งแต่เวลา 18.35-24.00 น. ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และสถานที่จัดงานอีก 7 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือ และแรงสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคเอกชน และส่วนราชการต่างๆ ในการจัดงานครั้งนี้ อย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ร่วมแสดงความปีติยินดี และความจงรักภักดีต่อมิ่งขวัญชาวไทยอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งความงดงามเหล่านี้จะคงอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยตลอดไป
ตระการตาริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติ
ก่อนที่เข้าสู่พิธีเปิดงานเฉลิมพระเกียรติ มีการแสดงของขบวนเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 3,000 คน ตั้งขบวนภายในท้องสนามหลวง และเริ่มเคลื่อนขบวนเวลา 17.00 น ออกจากถนนเส้นกลางสนามหลวง ด้านมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ วนขวารอบสนามหลวง ผ่านศาลฎีกา ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้ววกกลับมายังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง สำหรับริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วย ขบวนมังกรทอง ยาว 72 เมตร วงดุริยางค์ กองเกียรติยศ ขบวนธงชาติ ขบวนนักเรียนนายร้อย ขบวนธงสัญลักษณ์มวก. ขบวนธงสีฟ้า ขบวนพระฉายาลักษณ์พระโอรส ขบวนพานพุ่ม ขบวนเทียนรุ้ง ขบวนเสลี่ยงพระพุทธรูป ขบวนบายศรี ขบวนดิน-น้ำ ขบวนเครื่องสูง ขบวนหาบพืชพันธุ์ธัญญาหาร ขบวนนางฟ้าโปรยดอกไม้ ขบวนกลองยาว ขบวนสาวงามกลางจ้อง ขบวนกลองสะบัดชัย ขบวนสามล้อถีบ 49 คัน ขบวนพสกนิกรชาวไทย ขบวนโปงลาง ขบวนข้าราชการ ขบวนโคมสาย ขบวนศิลปะแม่ไม้มวยไทย ขบวนสิงห์โต ขบวนรถบุปผชาติ ขบวนเด็กไทยย้อนยุค ขบวนตัวแทนสมาคมเอกลักษณ์ไทย ขบวนตุง ขบวนทหารม้า ขบวนพัดทอง จากนั้น เวลา 18.35 น. สถานที่จัดงานทุกแห่งจะเริ่มเปิดกิจกรรมเฉลิมฉลองพร้อมๆ กัน
กิจกรรมเฉลิมฉลองงดงามสมพระเกียรติ
การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ซึ่งเน้นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และคงไว้ ซึ่งประเพณีที่ดีงามของไทย โดยแต่ละจุดมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองกันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ บริเวณท้องสนามหลวง มีการแสดงของริ้วขบวนเฉลิมพระเกียรติ ที่เน้นความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของปวงชนชาวไทยที่มีความ จงรักภักดี ประกอบด้วยผู้ร่วมขบวนกว่า 3,000 คน และการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิมและศิลปะแบบร่วมสมัย ในรูปแบบที่เป็นที่สุดของประเทศ ลานคนเมือง มีการขับร้องเพลงโดยศิลปินสุนทราภรณ์วงใหญ่ เพลงที่แต่งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อถวายพระพร พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกร-รัศมีโชติ
ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ มีการแสดงกิจกรรมตามราชประเพณี ที่หาชมได้ยากยิ่ง อาทิ การบายศรีบัตรพลี การแสดงวงดุริยางค์ มหกรรมดนตรี บทเพลงกล่อมเด็ก การแสดงนาฏศิลป์ และแสง สี เสียง ชุดกำเนิดพระราม
สวนสันติชัยปราการ มีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ การเล่นเพลงกล่อมเด็กโบราณ การแสดงพื้นบ้าน การแสดงของเด็กๆ ศิลปิน ดารา และในการร่วมสานปลาตะเพียน สวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงของศิลปิน สารคดีเฉลิมพระเกียรติ และการฉายหนังกลางแปลง การแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ อันงดงาม 9 ชุด บริเวณซุ้มประตูไทย-จีน (เยาวราช) มีการเฉลิมฉลองตามประเพณีชาวจีน อาทิ งิ้วแต้จิ๋ว เชิดสิงโต แห่มังกรทอง อุปรากรจีน การแจกไข่ต้มแดงมงคล 29,448 ฟอง การเขียนถวายพระพรบนกระดาษจีนและผ้าแดงมงคลผืนยาว
อุทยานเบญจสิริ มีการแสดงวงดนตรีไทยประยุกต์ ขับเสภาภาษาไทยและอังกฤษ ขบวนช้าง กลองสะบัดชัย ฟ้อนดาบ โขนเด็ก จากคณะอาศรมอนุรักษ์วัฒนธรรม ลิเกฮูลู หนังใหญ่ และ โรงละครภัทราวดีเธียเตอร์ จะเปิดการแสดงละครร่วมสมัยรอบพิเศษ เรื่อง สุริยุปราคา ให้ชมฟรีในวันที่ 25 มิถุนายน นี้
ชาวประชารวมใจถวายพระพร
ในวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้ กรุงเทพมหานครได้รับพระราชทานพระรูปพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า-ทีปังกรรัศมีโชติ จำนวน 4 ภาพ ในพระอิริยาบถที่แตกต่างกัน และจัดพิมพ์เป็นภาพโปสการ์ด จำนวน 4 แสนใบ เพื่อมอบให้พี่น้องประชาชนที่มาร่วมงานได้ร่วมชื่นชมพระบารมี โดยได้เชิญชวนประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมใจถวายพระพรด้วยการสานปลาตะเพียนประดับไว้ที่หน้าบ้าน ห้างร้าน บ้าน หรือห้างร้านเพื่อถวายพระพร ทั้งนี้ ตามความเชื่อไทยโบราณเมื่อบ้านไหนมีเด็กเกิดใหม่มักจะสานปลาตะเพียนแขวนไว้ที่เปลหรือบริเวณบ้าน เนื่องจากปลาตะเพียนถือเป็นปลาที่มีลักษณะพิเศษที่โดดเด่นในด้านความแข็งแรง ปราดเปรียว และเจริญเติบโตอย่าง รวดเร็ว การสานปลาตะเพียนเพื่อมอบให้แก่ทารก จึงถือเป็นนัยที่สื่อถึงการมอบพรอันประเสริฐเพื่อให้ทารกสุขภาพและพลานามัยแข็งแรง ปราดเปรียว เลี้ยงง่าย โตเร็ว และเจริญรุ่งเรือง พร้อมทั้งให้ประชาชนร่วมสานปลาตะเพียนได้ที่บริเวณสถานที่จัดงาน พร้อมกันนี้ ที่บริเวณสถานที่จัดงานทุกแห่งยังได้จัดเตรียมสมุดลงนามถวายพระพรสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย--จบ--