กว่าหนึ่งปีแล้วที่โลกของเราตกอยู่ในวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายภาคส่วนค่อยๆ ล้มลงคล้ายโดมิโน่ และยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไม่ว่าจะกับองค์กรใหญ่ ผู้ประกอบการรายย่อย สังคม ชุมชน และประชาชนทั่วไป รวมไปถึงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ สิ่งดีๆ ที่เรายังคงมีให้เห็นอยู่ทุกวันคือการรวมพลังครั้งใหญ่ของคนไทย ช่วยกันประคับ ประคองในส่วนที่ตนทำได้โดยมุ่งหวังจะฝ่าวิกฤตไปด้วยกันทั้งหมด
ด้วยเจตนารมณ์ในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวไทยเพื่อให้ฝ่าวิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ จึงได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตสวนหลวง, สำนักงานเขตบางกะปิ, สาธารณสุข จ.นนทบุรี, สถานีดับเพลิงสุทธิสาร, ชมรมบรรเทาภัยเฉพาะกิจ, มูลนิธิสยามร่วมใจ, กู้ชีพหงส์แดง, มูลนิธิร่วมกตัญญู สน.พหลโยธิน, สปคม.บางเขน, มูลนิธิกู้ภัยร่มไทร, กู้ชีพกูบแดง , มูลนิธิจิเต็กลิ้ม ฮู้กั๊กตึ้ง (พิรุณ), วัดสุทธิวราราม พร้อมด้วยองค์กรสื่อสารมวลชน และสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย รวมพลังส่งมอบอาหารพร้อมรับประทานจำนวนรวมกว่า 300,000 กล่อง รวมระยะเวลารวมกว่า 40 วัน ให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ภายใต้โครงการ "ครัวปันอิ่ม ร้อยเรียงใจสู้ภัยโควิด-19" ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องในชุมชนต่าง ๆ และผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารรายย่อยให้สามารถฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปได้
โดยพระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กล่าวว่า วัดสุทธิวรารามถือเป็นอีก 1 จุดที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการครัวปันอิ่ม ซึ่งอาหารการกินถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่ทางวัดต้องการ การสนับสนุนในตอนนี้ เพราะวัดต้องดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในละแวกใกล้เคียงทั้ง 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น มื้อละ 200 กล่องก็ตก 600 กล่องต่อวัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงส่วนหนึ่งก็เป็นเงินของทางวัด ส่วนหนึ่งก็ได้รับบริจาค เพราะฉะนั้นวันนี้การที่ซีพี ออลล์ มาร่วมเป็นเจ้าภาพวันละ 600 กล่องก็สอดคล้องกับความต้องการของที่นี่ ก็ถือว่าช่วยลดภาระในเรื่องการเตรียมอาหาร ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ
ด้านนายกิติศักดิ์ พวงบุบผา ประธานชมรมบรรเทาภัยเฉพาะกิจ เล่าว่าตอนนี้ทางชมรมฯ ได้เทกำลังลงมาช่วยเหลือปประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด ไม่ว่าจะเป็นการส่งยาให้ผู้ป่วย Home Isolation กว่า 100 หลังคาเรือน การรับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อเพื่อให้ได้เข้ารับการรักษา พร้อมส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา รวมถึงตอนนี้ก็ได้เข้ามารับข้าวกล่องในโครงการครัวปันอิ่ม ของทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อส่งให้กับผู้ป่วยที่พักรักษาตัว ดูแลตัวเองที่บ้านใน 4 เขต ไม่ว่าจะเป็นเขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางซื่อ และเขตบางพลัด วันละ 1,000 กล่องเป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือน ซึ่งถือว่าช่วยผู้ป่วยได้มาก อย่างน้อยพวกเขาก็มีข้าวทานได้อิ่มท้อง เพื่อเป็นพลังกาย ให้มีกำลังใจรักษาตัวเองต่อไป
สำหรับโครงการ "ครัวปันอิ่มร้อยเรียงใจสู้ภัยโควิด-19" จัดตั้งตามเจตนารมณ์ของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อประกาศความตั้งใจที่จะผนึกกำลังธุรกิจในเครือร่วมแรงร่วมใจคนละไม้คนละมือกับพี่น้องคนไทยทุกภาคส่วนเพื่อก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน อีกทั้งเพื่อช่วยเหลือและให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 40 ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยร่วมระดมสรรพกำลังของกลุ่มธุรกิจในเครือ ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ดูแลธุรกิจโลตัส และบริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด ตลอดจนได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพันธมิตรในสังคมที่ได้เข้ามาร่วมกันช่วยเหลือชุมชนที่เดือดร้อน ซึ่งมีทั้งผู้ที่ขาดรายได้ ว่างงาน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่กักตัวดูอาการ และผู้ที่รักษาตัวที่บ้านหรือ Home Isolation ซึ่งโครงการครัวปันอิ่ม เริ่มส่งมอบอาหารพร้อมรับประทานรวมจำนวน 2 ล้านกล่อง ให้แก่ชุมชมต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
โดยอาหารพร้อมรับประทานจำนวน 2 ล้านกล่องนี้ ประกอบด้วย ส่วนแรกเป็นการช่วยเหลือร้านอาหารรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาด โดยโครงการครัวปันอิ่มจะจัดซื้ออาหารที่ปรุงใหม่สุกสะอาดตามหลักโภชนาการบรรจุกล่องถูกสุขอนามัยจากร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดกลางในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1 ล้านกล่อง และอีก 1 ล้านกล่องเป็นการสมทบอาหารจากเครือซีพีที่เป็นอาหารอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน รวมเป็น 2 ล้านกล่อง ซึ่งประกอบไปด้วยเมนูอาหารแตกต่างกันในแต่ละวัน
นอกจากนี้ ยังมีผู้มีจิตกุศลนำอาหารมาร่วมสมทบและมีจิตอาสา มูลนิธิ และภาคประชาสังคมมาช่วยดำเนินการส่งมอบในพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงชุมชนและลดการแออัด โดยประชาชนไม่ต้องออกจากที่พักอาศัยเพื่อมารับ ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย