นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ในกรุงเทพฯ มีถังขยะที่รองรับขยะติดเชื้อให้บริการประชาชนเพียง 1,000 แห่ง ซึ่งอาจไม่เพียงพอว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 1 - 16 ส.ค.64 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อ 1,923 ตัน หรือเฉลี่ย 120 ตัน/วัน แบ่งเป็นขยะติดเชื้อทั่วไปจากสถานบริการการสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก ปริมาณทั้งสิ้น 1,035 ตัน หรือเฉลี่ย 65 ตัน/วัน และขยะติดเชื้อโควิด-19 จากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 สถานที่กักตัวของรัฐ โรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัว หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) โรงพยาบาลสนาม สถานที่แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) และสถานที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI) ปริมาณทั้งสิ้น 888 ตัน หรือเฉลี่ย 55 ตัน/วัน โดยขยะติดเชื้อที่เก็บรวบรวมได้ทั้งหมด กรุงเทพมหานครนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยติดเชื้ออ่อนนุชและหนองแขม ซึ่งสามารถกำจัดขยะติดเชื้อได้รวม 70 ตัน/วัน ส่วนที่เหลือเฉลี่ย 50 ตัน/วัน นำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยชุมชนที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม
สำหรับถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) กรุงเทพมหานครได้ตั้งวางในพื้นที่สาธารณะกว่า 1,000 จุด เพื่อรองรับขยะหน้ากากอนามัยและชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 (Antigen Test Kit : ATK) ที่ใช้แล้วจากประชาชนทั่วไป ส่วนขยะติดเชื้อโควิด-19 ได้จัดหาถุงขยะติดเชื้อ (สีแดง) แจกจ่ายให้โรงพยาบาลสนาม CI และสำนักงานเขตต่าง ๆ เพื่อใช้เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อและนำไปกำจัดตามหลักสุขาภิบาล ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักอนามัยแจกจ่ายถุงขยะติดเชื้อ (สีแดง) เพื่ออำนวยความสะดวกการทิ้งขยะติดเชื้อให้กับผู้ป่วยที่เข้าระบบ HI ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่จะจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจและรถเก็บขนมูลฝอยเฉพาะ เก็บรวบรวมจากสถานที่พักอาศัยไปยังจุดพักรวมขยะติดเชื้อโควิด-19 ของสำนักงานเขต อย่างไรก็ตาม สำนักสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการจัดหาถังรองรับขยะติดเชื้อ (สีแดง) เพิ่มเติม เพื่อใช้รองรับขยะหน้ากากอนามัยและชุด ATK ที่ใช้แล้ว รวมถึงขยะติดเชื้อโควิด-19 ให้ครอบคลุมในชุมชนต่อไป