KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอต่อเนื่อง แม้จะมีการเติบโตได้ 7.5% เทียบกับปีก่อน แต่เหตุผลหลักเกิดจากฐานที่ต่ำของ GDP ใน ไตรมาส 2 ปีก่อน ที่หดตัวไป 12.1% ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนในประเทศชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด -19
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดในปัจจุบัน เรียกได้ว่า "รุนแรงกว่า กว้างขวางกว่า และยาวนานกว่า" ปีก่อน ดังนั้น เศรษฐกิจในประเทศน่าจะหดตัวลงในไตรมาส 3 จากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวลและมาตรการ ล็อกดาวน์ที่ยังคงอยู่ต่อเนื่อง สอดคล้องกับการประเมินของ KKP Research ก่อนหน้านี้ (คาดล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือน เสี่ยงทำไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย) ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของโควิด -19 ยังมีแนวโน้มเริ่มลุกลามไปถึงภาคการผลิตและภาคการส่งออก และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเป็นไม่กี่ประเทศในโลกจะมีเศรษฐกิจหดตัวลงต่อเนื่องกันถึงสองปี ซึ่งหมายถึงระดับรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจที่หายไปมูลค่ามหาศาล
มากกว่าแค่ผลกระทบต่อรายได้
ผลกระทบจากโควิด-19 ที่เริ่มต้นการหยุดชะงักของรายได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะทางการเงิน กำไร และกระแสเงินสดของธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งจะเป็นต้นตอที่นำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา เช่น (1) การจ้างงาน (2) การลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นซึ่งเพิ่มผลกระทบให้กระจายเป็นวงกว้างกับธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ และ (3) ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้และค่าเช่าของบริษัทจากกระแสเงินสดที่ไม่เพียงพอ ประเด็นที่น่ากังวล คือ ผลกระทบต่อความอยู่รอดของธุรกิจและครัวเรือน ในกรณีเลวร้าย ธุรกิจหลายแห่งอาจต้องปิดตัวลงถาวรภายใต้การระบาดที่ยืดเยื้อเช่นในปัจจุบันซึ่งจะสร้างแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และในฝั่งของตลาดการเงินความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้ปัญหากระจายเป็นวงกว้างได้
เครื่องมือนโยบายของไทยยังน้อยเกินไป
ในฝั่งของนโยบายการคลัง แม้จะมีนโยบายในกลุ่มการเยียวยาและการให้ความช่วยเหลือครัวเรือน แรงงาน และธุรกิจแล้ว แต่อาจยังมีขนาดไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาจากการระบาดระลอกใหม่ และยังต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการที่ช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวในระยะต่อไป
ในฝั่งของนโยบายการเงินยังมีลักษณะค่อนข้างระมัดระวัง และมีการใช้เครื่องมือนโยบายใหม่ ๆ ออกมาในปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ และเทียบกับในต่างประเทศที่มีการใช้นโยบายการเงินรูปแบบใหม่อย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับปัญหา นอกจากนี้บางมาตรการ เช่น นโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) อาจมีการใช้น้อยกว่าที่ควร จากกฎเกณฑ์ที่ยังไม่สอดคล้องกับแรงจูงใจในการปล่อยกู้
นโยบายการคลัง - ต้องยิ่งใหญ่ ครอบคลุม และยาวนาน
KKP Research ประเมินว่าในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นโยบายการคลังควรครอบคลุมในหลายมิติดังนี้ 1) การจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอเพื่อเสริมศักยภาพด้านสาธารณสุข 2) การจัดหาและกระจายวัคซีนที่คุณภาพ 3) การออกมาตรการเยียวยา ที่ครอบคลุม เพียงพอ และเหมาะสมกับสถานการณ์ 4) การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ 5) การใช้จ่ายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรับความท้าทายหลังโควิด-19
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลอาจพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมได้แก่ 1) เพิ่มการให้ความช่วยเหลือแรงงาน ลดค่าใช้จ่าย และชดเชยการขาดรายได้ของครัวเรือน 2) ให้เงินเยียวยา เงินอุดหนุนสภาพคล่อง และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงอาชีพอิสระ 3) ให้เงินอุดหนุนค่าจ้างเพื่อให้บริษัทในพื้นที่และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยังคงรักษาการจ้างลูกจ้างไว้ 4) สนับสนุนในการพัฒนาทักษะแรงงาน และให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปทางดิจิตัลมากยิ่งขึ้น 5) เตรียมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิผลต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน และเตรียมมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัด และเพิ่มแรงจูงใจ เพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น
KKP Research ประเมินว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยจะเข้าใกล้ระดับเพดาน 60% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับลดลงมาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยเป็นภาระต่องบประมาณน้อยลง และรัฐบาลยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมได้อีกหากการใช้จ่ายด้านการคลังมีความจำเป็น ทั้งนี้ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงินงบประมาณที่เปลี่ยนไปตามความท้าทายของปัญหา ใช้เงินให้คุ้มค่าต่อเศรษฐกิจ ให้มีการรั่วไหลน้อยที่สุด และมีแผนในการลดการขาดดุลและรักษาวินัยทางการคลังในอนาคต
นโยบายการเงิน - ควรออกจากกรอบเดิม
KKP Research มองว่านโยบายการเงินควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัว และบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยปรับปรุงนโยบายเดิม และพิจารณาเครื่องมือรูปแบบใหม่ที่ก้าวออกจากกรอบการทำนโยบายการเงินแบบเก่า คือ
1. พิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ผ่านการลดดอกเบี้ยนโยบาย และ/หรือ การลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน (FIDF fee) เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และส่งผ่านการกระตุ้นไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเสริมและพยุงเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น
2. รักษาสภาพคล่องในระบบให้มีอย่างเพียงพอ และเตรียมอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม เพื่อชดเชยสภาพคล่องที่อาจหดหายไปจากเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยทำหน้าที่เป็นนโยบายหนุนหลัง (policy backstop) สำหรับตลาดการเงินและเศรษฐกิจ โดยพิจารณาเครื่องมือนโยบายการเงินรูปแบบใหม่ (เช่น การทำ Quantitative Easing - QE) หรือเตรียมมาตรการเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องในภาวะฉุกเฉิน และปรับเงื่อนไขมาตรการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินให้สอดคล้องกับสถานการณ์
3. มาตรการบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้ โดยคำนึงถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ในสถานการณ์ปัจจุบัน การเลื่อนการชำระหนี้ ลดภาระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้ มีความจำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบลูกหนี้ โดยขยายเวลารับรู้ต้นทุนความเสียหายไปในอนาคต และป้องกันไม่ได้เกิดการเรียกคืนหนี้ การฟ้องล้มละลาย และการบังคับหลักประกันพร้อมๆกัน ซึ่งจะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบได้ อย่างไรก็ดี มาตรการที่ใช้ต้องระมัดวังไม่ให้เกิดปัญหาแรงจูงใจที่ผิด (moral hazard) และจำกัดผลกระทบต่อฐานะของสถาบันการเงินที่อาจนำไปสู่ปัญหาความเชื่อมั่นของระบบการเงินได้
4. มีมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจหยุดชะงัก ผ่านระบบธนาคาร โดย ธปท. อาจพิจารณาใช้มาตรการจัดหาสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำระยะยาว เพื่อสนับสนุนการปล่อยกู้ของธนาคาร โดยมีโครงสร้างการแบ่งรับความเสียหายอนาคตกับรัฐ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการปล่อยกู้เพิ่ม โดยผูกการจัดหาสภาพคล่องเพิ่มเติมกับเงื่อนไข เช่น การรักษาการจ้างงาน เป็นต้น
5. กฎเกณฑ์ กฎระเบียบของมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้อาจมีความเข้มงวดเกินไปและไม่สร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงิน หรือผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมโครงการได้ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขให้นโยบายใช้ได้ผลเต็มที่มากขึ้น และการออกกฎเกณฑ์ต่างๆควรพิจารณาถึงผลกระทบข้างเคียงและการบิดเบือนตลาด ที่อาจจะสร้างปัญหาใหม่ๆได้
นอกจากนี้ มีความจำเป็นที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ต้องมีความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพของการทำนโยบาย และพิจารณาบทเรียนและตัวอย่างของเครื่องมือที่ใช้ในต่างประเทศและนำมาปรับใช้กับประเทศไทย
ทางออกสำคัญคือวัคซีน
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่าในภาวะวิกฤติปัจจุบัน ภาครัฐจำเป็นต้องทำนโยบายเยียวยา กระตุ้น ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนให้เพียงพอ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ทางออกที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตในครั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สามารถป้องกันการป่วยรุนแรง ลดความสูญเสีย และลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข หากการจัดหาวัคซีนยังทำได้อย่างล่าช้าและไม่เพียงพอ เศรษฐกิจจะถูกกระทบต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และเพิ่มต้นทุนต่อมาตรการภาครัฐที่ต้องออกมาต่อเนื่องและยาวนานขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากต้นทุนในการเยียวยาสูงกว่าต้นทุนของวัคซีนมหาศาล
บทเรียนจากหลายประเทศในโลกที่ใช้เครื่องมือนโยบายเศรษฐกิจได้ผลทำให้เศรษฐกิจในปี 2021 ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ภาครัฐไทยควรเร่งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบในช่วงล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรต่อระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพสูงเพื่อพาไทยออกจากวิกฤติครั้งนี้ให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ในระยะสั้น จากประสบการณ์ในต่างประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเป็นสัดส่วนสูงต่อประชากร แต่ก็ยังมีการระบาดและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีความสามารถในการแพร่กระจายสูงขึ้นและทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดต่ำลง อาจทำให้ความสามารถของวัคซีนในการหยุดการแพร่กระจายของเชื้อได้น้อยลง และการเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่อาจเกิดขึ้นได้ยากขึ้น การวางแผนบริหารความเสี่ยง ความยืดหยุ่น และการเตรียมพร้อมด้านระบบสาธารณสุขและนโยบายเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่เราจะสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคร้ายได้ ในขณะที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายด้านเศรษฐกิจมากจนเกินไป