กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกันได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัท (QH064A, QH074A, QH084A, QH09DA) และหุ้นกู้ชุดใหม่ในวงเงินรวมไม่เกิน 3,000 ล้านบาทที่ระดับ “BBB+” เช่นกัน โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคงอยู่ที่ระดับ “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนผลงานที่ยาวนานของบริษัทในตลาดที่อยู่อาศัย ตลอดจนภาพพจน์ตราสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่งในตลาดระดับบน และรายได้ค่าเช่าที่สม่ำเสมอจากห้องชุดพักอาศัยและอาคารสำนักงาน อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนโดยสัดส่วนของหนี้ที่ค่อนข้างสูง และภาวะของอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะผันผวน โดยที่ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนวัสดุก่อสร้างเป็นปัจจัยที่ต้องระวัง
ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทสะท้อนความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดบ้านราคาแพงไว้ได้ รายได้ค่าเช่าที่สม่ำเสมอจากอาคารชุดพักอาศัยและอาคารสำนักงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากโครงการสำนักงานแห่งใหม่คือคิวเฮ้าส์ ลุมพินี สร้างเสร็จในช่วงต้นปี 2549 และคาดว่าบริษัทจะสามารถลดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้เหลือน้อยกว่า 50% ได้ในระยะปานกลาง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ผลประกอบการของบริษัทควอลิตี้ เฮ้าส์ ในไตรมาสแรกของปี 2548 ถือว่าน่าพอใจ แม้ว่าธุรกิจบ้านจัดสรรจะชะลอตัวลง แต่บริษัทมียอดขายบ้านเดี่ยวราคาแพงในช่วงดังกล่าวถึง 1,533 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้ค่าเช่าจากอาคารชุดพักอาศัยและอาคารสำนักงานเพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการที่บริษัทมีการเปิดตัวอาคารชุดพักอาศัยเพิ่มในช่วงต้นปี 2547 โดยรายได้ค่าเช่าที่สม่ำเสมอนี้ถือเป็นผลดีต่อบริษัทเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะผันผวนของธุรกิจบ้านจัดสรรน้อยกว่า
ทริสเรทติ้งยังกล่าวว่า การแข่งขันในธุรกิจบ้านจัดสรรในปี 2548 คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีจำนวนบ้านจัดสรรเสนอขายเพิ่มขึ้นในขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ราคาวัสดุก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นน่าจะส่งผลทำให้กำไรของผู้ประกอบการลดลง ในขณะเดียวกัน การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกกฎเกณฑ์โดยกำหนดอัตราเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับบ้านที่ราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดแก่ธนาคารพาณิชย์ในการรายงานสินเชื่อโครงการที่ให้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อาจส่งผลทำให้อุปทานของที่อยู่อาศัยในตลาดลดลง--จบ--