สำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมประจำปีสมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา และนักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 เพื่อเป็นเวทีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา นักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา นักเรียนทุน พสวท. ผู้บริหาร และผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวง อว. รวมถึงเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนระดมความคิดเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรมนุษย์ของไทย สู่การริเริ่มโครงการที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมบรรยายผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ "BCG Economy กับการเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่"
ดร. กิติพงค์ เริ่มบรรยายด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของเศรษฐกิจ บีซีจี ที่รัฐบาลยกขึ้นเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ รวมถึงในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2565 ก็จะหยิบยกเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญในการประชุมด้วย สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี แบ่งออกเป็น เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy Economy) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการบนฐานทรัพยากรชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการทำให้สามารถที่จะหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้นานที่สุดและลดการใช้ทรัพยากรใหม่ลง ส่วนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เศรษฐกิจ บีซีจี จะเน้นการพัฒนาใน 4 สาขา ได้แก่ เกษตรและอาหาร, พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ, สุขภาพและการแพทย์, ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมองภาพรวมเป็นพีระมิด ซึ่งด้านบนของพีระมิดเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วยการใช้วิทยาการขั้นสูงในการขับเคลื่อน แต่มีจำนวนผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกันคือฐานล่างของพีระมิด ที่อาจไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งจะมีคนได้ประโยชน์เป็นกลุ่มใหญ่ เช่น เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมถึง SME การทำงานเรื่อง บีซีจี จึงต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองส่วนควบคู่กัน เนื่องจากในส่วนบนจะช่วยสร้างความสามารถของประเทศ ยกระดับประเทศให้ออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ขณะที่ส่วนล่างจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม
"ในการทำนโยบายทางยุทธศาสตร์ ประเทศไทยอาจต้องเลือกมุ่งเป้าหมายบางอย่างเพื่อให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด ซึ่ง สอวช. มีการตั้งเป้าหมายในการนำเอานวัตกรรมเข้าไปหนุนสาขาสำคัญใน บีซีจี ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและผลิตวัคซีนในระดับอาเซียน, การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเศรษฐกิจจุลินทรีย์, การเป็นผู้ผลิตและส่งออก Functional Ingredients 1 ใน 10 ของโลก, การเป็นจุดหมายปลายของของ Sustainable Tourism ของโลก และการเปลี่ยนผ่านเป็นประเทศที่สร้างมูลค่าจากฐานสังคมคาร์บอนต่ำและการผลิตที่สะอาด ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มมีการลงทุนทางด้าน บีซีจี แล้วในหลายมิติ ทั้งในเรื่อง National Biobank การเก็บ รักษา และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ, โครงการ Genomics Thailand ศึกษาข้อมูลจีโนมของคนไทย เพื่อการป้องกันการรักษาและการวางแผนระบบสาธารณสุข, Regional Science Park สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของภูมิภาค, การใช้ Big Data แก้ปัญหาความยากจนและยกระดับการผลิตการเกษตรมุ่งเป้า และ Biorefinery Pilot Plant ขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม เป็นต้น" ดร. กิติพงค์ กล่าว
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Thailand Board of Investment: BOI) พบว่า ในด้านการส่งเสริมการลงทุน ในไตรมาสแรกของปี 2564 มีกิจการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ บีซีจี จากบีโอไอ จำนวน 90 โครงการ เป็นมูลค่ากว่า 40,710 ล้านบาท หรือเป็น 58% ของมูลค่าที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในขณะเดียวกันบริษัทเอกชนก็เริ่มหันมาลงทุนในด้าน บีซีจี เพิ่มมากขึ้น อาทิ บริษัทผลิตอาหาร หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับด้านเภสัชกรรม
นอกจากนี้ยังได้มีการริเริ่มโครงการอื่นๆ ในการขับเคลื่อน บีซีจี เช่น โครงการ Bio-Circular-Green Complex แห่งแรกของเอเชีย ที่มีการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บีโอไอ รวมถึงหน่วยงานในระดับท้องถิ่นอย่างจังหวัดชลบุรี เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในรูปแบบนี้ขึ้น จะสามารถสร้างการจ้างงานและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานผ่านโครงการนี้กว่า 8,000 อัตรา ภายใน 3 ปี และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ในส่วนการสนับสนุนในระดับที่เป็นฐานราก มีการนำเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกเข้าไปใช้ในชุมชน เช่น ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตแก๊สชีวภาพจากของเสีย เป็นต้น
ในด้านการสนับสนุนของรัฐบาล มีกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ในปีงบประมาณ 2564 (จนถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2564) มีการจัดสรรงบสนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ บีซีจี ไปแล้วกว่า 261 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 855 ล้านบาท สำหรับการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ ได้พัฒนากระจายไปสู่ส่วนภูมิภาค เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการนำเอาวิทยาการขั้นสูงไปสู่ระดับพื้นที่ ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมเป็นฐานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ที่ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ อย่าง Future Food Lab ที่เปิดให้ SME สามารถเข้ามาทำวิจัยได้ มีห้องปฏิบัติการ มีพี่เลี้ยงให้ เมื่อผู้ประกอบการได้เข้ามาศึกษาก็จะสามารถกลับไปทำห้องปฏิบัติการหรือทำการวิจัยที่โรงงานของตัวเองได้
ในส่วนการส่งเสริมภาคเอกชน ปัจจุบันมีการสนับสนุน การสร้างแรงจูงใจหลายด้าน เช่น การยื่นขอรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ที่สามารถหักลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมได้ อีกส่วนสำคัญคือการสนับสนุนการขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพ มีการสร้างระบบนิเวศเพื่อจะทำให้เกิด Innovation-Driven Enterprise: IDE หรือผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม ผลักดันให้มีการเติบโตของยอดขายสูงขึ้นไปถึง 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่จะช่วยสนับสนุนทั้งในเชิงของการเงิน การลงทุน และการปลดล็อกต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อที่จะขยับสตาร์ทอัพของไทยให้ออกสู่ตลาดได้ด้วย เช่น การส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัย, การขับเคลื่อนการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) เพื่อเข้าไปช่วยกลุ่ม SME เป็นต้น
สำหรับความต้องการกำลังคนรองรับยุทธศาสตร์ บีซีจี จากการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ โดย สอวช. พบว่า มีความต้องการกำลังคนในแต่ละสาขารวมกว่า 101,107 คนในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า (ปี 2563 - 2567) โดยสาขาที่ต้องการกำลังคนมากที่สุดคือสาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องการกำลังคน 46,174 คน เพื่อเข้าไปช่วยในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคุณภาพสูง สร้างผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ และมีระบบบริหารการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT)