เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย (SOM-AMAF Leader) เข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 20 สมัยพิเศษ (Special SOM-20th AMAF Plus 3) ผ่านการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าของกิจกรรมความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ ในสาขา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ ASEAN Plus Three Cooperation Strategy (APTCS) Framework on Food, Agriculture, and Forestry และรับทราบผลการดำเนินงานขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+3 (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) และสำนักงานเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ผลการดำเนินงานของ APTERR ในช่วงโควิด-19 ปี 2563 เมียนมาได้รับการบริจาคเงินจากญี่ปุ่นจำนวน 300,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อจัดซื้อข้าวภายในประเทศปริมาณ 750 เมตริกตัน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ปี 2564 ฟิลิปปินส์ได้ระบายข้าว precooked จำนวน 2 ตัน และกัมพูชาได้ระบายข้าว 78 ตัน ที่ได้รับบริจาคจากญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ประเทศไทยได้กล่าวในที่ประชุมถึงสถานการณ์ปัจจุบันของวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบอาหารทั้งหมด ประเทศไทยเห็นควรส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของอาเซียนบวกสามมากยิ่งขึ้น ในด้านการแบ่งปันข้อมูลความมั่นคงด้านอาหารระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนบวกสาม การส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาในด้าน Food system ความมั่นคงอาหาร รวมถึงการควบคุมโรคระบาดจากพืชและสัตว์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังให้ความสำคัญและมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในสินค้าเกษตร ทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ ตลอดกระบวนการอย่างเข้มงวด รวมทั้งปฏิบัติตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหพันธรัฐรัสเซีย ครั้งที่ 6 (6th ARSOMA) โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรมภายใต้ ASEAN-Russia Agriculture and Food Security Cooperation Work Programme (2021 - 2025) โดยอาเซียนกับรัสเซียอาจมีความร่วมมือร่วมกันในอนาคต ในสาขาต่าง ๆ อาทิ โรคในพืชและสัตว์ข้ามพรมแดน Novel Food การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้การผลิตสินค้าเกษตรมีความยืดหยุ่นและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน