วศ. จับมือ วว.และ สวทช. เปิดเวทีเสวนาวิชาการ "ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด" มองภาพอนาคตตอบโจทย์ประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday August 26, 2021 16:58 —ThaiPR.net

วศ. จับมือ วว.และ สวทช. เปิดเวทีเสวนาวิชาการ

26 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานเสวนา เรื่อง "ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด" จัดโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผ่านระบบ ZOOM Online และ Facebook Live เพื่อสอดคล้องกับนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้าฯ สป.อว. ศ.(พิเศษ)

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือหลายหน่วยงานในสังกัด อว. อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรป รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง "เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างอนาคต" บรรยากาศงานจะทำให้ทุกท่านได้รับความรู้ ความเข้าใจ ด้านประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการความเชื่อมโยงในการพัฒนาองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และสามารถมองภาพอนาคตประเทศไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของกระทรวง อว. ในฐานะเป็นกระทรวงแห่งความรู้ ศิลปะวิทยาการ ผสมผสานทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ได้เปิดเวทีเสวนา เรื่อง "ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด" โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแลกเปลี่ยนบันทึกประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ที่รวมถึงการเรียนรู้อดีตที่ผ่านมาของหน่วยงาน ภารกิจความรับผิดชอบสำคัญ เรื่องราวที่พบเจอวิวัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย จนถึงสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยถ่ายทอดออกมาให้ประชาชนและคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ร่วมกัน ตระหนักถึงความสำคัญและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดพลังสร้างสรรค์งานด้านวิทยาศาสตร์ไทยในอนาคต ส่งผลดีต่อคุณภาพและศักยภาพโดยรวมของประเทศไทยที่จะช่วยส่งเสริมและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันในงานได้จัดนิทรรศการย่อย ผลงานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดย วศ. แสดงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ยุคแรกๆ ได้แก่ สมุดบันทึกการทดลองของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม คู่มือเภสัชกรรมหรือคู่มือวิชาการ Handbuch Der Pharmakognosie ไฮโดรมิเตอร์ ระฆังตีนอกเวลาเรียนสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ และเครื่องโรเนียวบัตรรายการ เป็นต้น ในส่วน วว.และ สวทช. ได้แสดงผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านการแพทย์ เป็นต้น ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ นำไปปรับใช้ประโยชน์ ต่อยอดงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ