ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนา เรื่อง "ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด" จัดโดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษเรื่อง "เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อสร้างอนาคต" โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี มหาวิทยาลัยมหิดล การเสวนาเรื่อง "ศึกษาอดีต เรียนรู้ปัจจุบัน สู่อนาคตกับวิทยาศาสตร์ไทยสู้ภัยโควิด" โดย คณะผู้บริหาร หน่วยงานกระทรวง อว. ได้แก่ ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 12.30 - 16.00 น. ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. และในรูปแบบออนไลน์ (ผ่านระบบ ZOOM และ Facebook live กระทรวง อว.)
โอกาสนี้ ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ได้นำเสนอผลงานเด่นองค์กรตั้งแต่การริเริ่มดำเนินงานเมื่อ พ.ศ. 2506 ซึ่งรัฐบาลวางกรอบแนวทางบริหารจัดการองค์กรไว้อย่างชัดเจน และมีความทันสมัยของบริบทองค์กรจวบจนปัจจุบันในการจัดตั้งว่า เพื่อนำผลงานวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหาการพัฒนาประเทศ การดำเนินงานเกี่ยวกับกิจกรรมด้านต่างๆ รวมทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และสาธารณสุข ให้บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อันเกิดจากการทดลองภายในประเทศเพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ ซึ่งกีดขวางการปรับปรุงเศรษฐกิจของประเทศ มีผลงานสำเร็จเป็นรูปธรรมและมีบทบาทสำคัญต่อภาคอุตสาหหรมจวบปัจจุบัน อาทิ
วว. บุกเบิกการวิจัย เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง เป็นแห่งแรกของไทย และนำมาสู่การวิจัยเห็ดเมืองหนาวชนิดอื่นๆ ทำให้คนไทยได้รับประทานเห็ดเมืองหนาวในราคาถูกสร้างงานมั่นคงให้เกษตรกร งานวิจัยผลิตกะทิสำเร็จรูปชนิดเข้มข้นบรรจุกระป๋องซึ่งเป็นต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์กะทิกล่องสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน การวิจัยแท่งเชื้อเพลิงอัดแข็งซึ่งเป็นการวิจัยพัฒนาด้าน BCG การจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังแห่งแรกของประเทศ ที่มีกำลังการผลิตเอทานอลไร้น้ำ 1,500 ลิตรต่อวันและเป็นต้นแบบของโรงงานฯ ด้านนี้นำไปสู่โมเดลการก่อสร้างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดต่างๆในปัจจุบัน งานวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุผลผลิตการเกษตร เช่น การใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์สำหรับลำไยสด/ลิ้นจี่เพื่อการส่งออก การยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดโดยใช้สารยับยั้งเอทธิลีน การพัฒนาสารเคลือบผิวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงและมังคุด เป็นต้น
ผู้ว่าการ วว. นำเสนอว่า ตลอดระยะเวลา 58 ปี วว. มุ่งมั่นกับบทบาท "หุ้นส่วนแห่งความสำเร็จ" และดำเนินภารกิจการวิจัยและพัฒนา ด้าน วทน. เพื่อสร้างคุณค่าให้กับภูมิปัญญาของนักวิจัยไทย และผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งเร่งรัดงานให้บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างประโยชน์มูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ สามารถตอบโจทย์ประเทศเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนากระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่น การพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย การพัฒนาสารชีวภัณฑ์ที่ผลิตจากจุลินทรีย์สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับที่สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 124 กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี การพัฒนาเชิงพื้นที่ (area based) ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตอบสนองความต้องการผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้ รวมทั้งการที่ วว. เป็น Total Solution ให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ เพื่อตอบโจทย์ทุกภาคส่วนในยุคดิจิทัล พร้อมทั้งให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่ง วว. ประสบผลสำเร็จในการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 200,000 รายการต่อปี มีจำนวนลูกค้ามากกว่า 10,000 ราย สามารถช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างไปทดสอบต่างประเทศได้มากกว่า 50%
ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 วว. นำเทคโนโลยีพร้อมใช้ ผลงานวิจัยพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่สังคม เพื่อช่วยแก้ปัญหา สร้างโอกาส ช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและภายหลังสถานการณ์ฯ ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตเจลแอลกอฮอล์และหลักสูตรการผลิตเจลล้างมือที่ประชาชนสามารถผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน หรือนำไปเป็นอาชีพเสริมได้ การบริการทดสอบและปรับปรุงระบบห้องความดันลบ การบริการทดสอบหน้ากาก การบริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร ตามแนวทางมาตรฐานยาสมุนไพรไทย จัดตั้งต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านการจัดการ PPE ใช้แล้วที่ผ่านการฆ่าเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และขยะปลอดเชื้ออื่นๆ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชันสามขั้นตอน ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีผลิตน้ำอิเล็กทรอไลต์สำหรับพ่นกำจัดเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงกำจัดไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา โดยไม่มีสารตกค้าง ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ ข้อแนะนำการใช้งานและการฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน ASTM E 2315-16 ใช้สำหรับฉีดพ่นและเช็ดถูทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. นำเสนอในช่วงท้ายว่า วว. ให้ความสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์และฟื้นฟูเสริมแกร่งประชาชน ผู้ประกอบการ ดังนี้ ทบทวนและปรับทิศทางงานวิจัยเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก มุ่งเน้นงานวิจัยเชิงสุขภาพให้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุและผู้ที่รักและใส่ใจสุขภาพที่จะมีมากขึ้น มุ่งเน้นงานวิจัยส่งเสริมนวัตอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น เพื่อการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และจะผลักดันให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นำศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปช่วยเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มการแข่งขัน สนับสนุนนโยบายกระทรวง อว. ใน โครงการมหาวิทยาลัยตำบลสู่รากแก้วสร้างประเทศ (U2T ) เพื่อร่วมสร้างอนาคตให้กับ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งสร้างอนาคต สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับนักศึกษาและประชาชน 60,000 คน ตลอดจนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดออนไลน์ โดยร่วมกับพันธมิตรคู่ค้า บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด มุ่งศึกษา วิจัย พัฒนาบรรจุภัณฑ์และนวัตกรรม เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าทุกรูปแบบผ่านช่องทางของไปรษณีย์ไทย ให้แข็งแรง ทนทาน ได้มาตรฐาน ป้องกันความเสียหาย พร้อมรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันและอนาคตให้หลากหลายยิ่งขึ้น พร้อมเสริมแกร่ง เพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย / ขนส่งสินค้า ให้ผู้ประกอบการ OTOP วิสาหกิจชุมชน SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 อย่างเข้มแข็ง ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม
สอบถามรายละเอียดผลงานวิจัยพัฒนาและขอรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : tistr@tistr.or.th