ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป ที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 27, 2021 08:48 —ThaiPR.net

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ที่ 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตของบริษัทฯ สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มีเสถียรภาพในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ชะลอตัวลง ความเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม (Niche Product) ซึ่งมีการกระจายตัวของธุรกิจที่หลากหลาย และสัดส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทฯ ได้ถูกจำกัดจากขนาดของธุรกิจที่เล็ก เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

รายได้ฟื้นตัวกลับไปอยู่ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดในปีงบการเงิน 2565: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของบริษัทฯ สำหรับปีงบการเงิน 2565 ซึ่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565 จะเพิ่มขึ้นและกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส จากรายได้จากการส่งออกที่ดีขึ้นในธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น โดยจะได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงโรงงานฉนวนยางแห่งใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีกำลังการผลิตมากขึ้น และจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น (ครึ่งปีแรกของปี 2564 มีการผลิตรถดังกล่าวจำนวนประมาณ 5 แสนคัน หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของปริมาณการผลิตในช่วงเดียวกันของปี 2562) จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ในประเทศ โดยในไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2565 บริษัทฯ มีรายได้จำนวน 2.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เทียบกับไตรมาสก่อน

สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: EPG มีอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินซึ่งคำนวณจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ที่คาดว่าจะต่ำกว่า 1.0 เท่าในช่วงปีงบการเงิน 2565-2567 และอัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนต่อดอกเบี้ยและค่าเช่า (FFO fixed-charge coverage) ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 8 เท่า ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Operating cash flow) ที่เพียงพอสำหรับการลงทุนที่วางแผนเอาไว้ รวมถึงอาจจะเพียงพอสำหรับการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติมได้ โดยบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษาที่ต่ำ ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี

กระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพ: EPG มีผลประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ที่ดีกว่าที่ฟิทช์ประมาณการเอาไว้ เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ต่ำลง และรายได้ที่สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยรายได้ของบริษัทฯสำหรับปีงบการเงิน 2564 ลดลงเพียงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับลดลงร้อยละ 17 ที่ฟิทช์ประมาณการณ์เอาไว้ โดยมีปัจจัยมาจากการฟื้นตัวที่รวดเร็วของธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ หลังจากการหยุดการผลิตชั่วคราวของผู้ผลิตรถยนต์ ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2564 และผลประกอบการที่ดีขึ้นของธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย ฟิทช์เชื่อว่า EPG ได้ประโยชน์จากการที่บริษัทฯ มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่น้อยกว่าตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ฟิทช์คาดว่า บริษัทฯ จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) ที่ระดับประมาณ 1.6 - 1.9 พันล้านบาทต่อปีในปีงบการเงิน 2565-2567

การทำกำไรในระดับที่บริหารจัดการได้: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ของบริษัทฯ น่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 17 ในปีงบการเงิน 2565 แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าวัตถุดิบโพลิเมอร์ที่เพิ่มขึ้น (ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าวัตถุดิบโพลิเมอร์คิดเป็นร้อยละ 40-55 ของค่าใช้จ่ายในการผลิตทั้งหมด) โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากค่าใช้จ่ายในการผลิตที่คาดว่าจะลดลงเนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นของโรงงานฉนวนยางแห่งใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และธุรกิจอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ในประเทศออสเตรเลียที่อัตราส่วนการทำกำไรที่ดีขึ้น นอกจากนี้ การบริหารจัดการด้านสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพ และความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นให้กับลูกค้าในธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น จะช่วยสนับสนุนอัตราส่วนกำไรของบริษัทฯ โดย ณ สิ้นไตรมาสแรก ของปีงบการเงิน 2565 บริษัทมี EBITDA margin เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 19.2 จากร้อยละ 17.9 ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบการเงิน 2564 จากราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้นและค่าใช้จ่ายด้านขนส่งที่ลดลง

ผู้นำในธุรกิจเฉพาะกลุ่ม (Niche Market): EPG เป็นผู้นำในการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถกระบะในประเทศไทย โดยเป็นผู้ริเริ่มในการผลิตพื้นปูกระบะ (Bed Liner) ที่ใช้ระบบตัวยึดโดยไม่ต้องเจาะรูบนตัวถังรถ (No-drilling Technology) เป็นรายแรกของโลก ซึ่งทำให้บริษัทฯ เป็นผู้นำในการผลิตพื้นปูกระบะในประเทศไทย นอกจากนี้ EPG ยังเป็นผู้ผลิตหลังคารถกระบะ (Canopy) ที่ผลิตจาก Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) Alloy แบบ 2 ชั้น ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวไร้รอยต่อ เนื่องจากพลาสติกประเภท ABS เป็นพลาสติกที่บริษัทผลิตรถยนตร์นิยมใช้ ซึ่งทำให้ EPG มีความได้เปรียบจากการเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์นี้

EPG ยังเป็นผู้นำในธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็นที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท Ethylene Propylene Diene Monomer (EPDM) ของโลก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจฉนวนยางโลกประมาณร้อยละ 8-11โดยมียางสังเคราะห์ประเภท Nitrile Butadiene Rubber (NBR) ที่ครองส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 90 ทั้งนี้ NBR มีการใช้มาเป็นเวลานานกว่า มีการใช้แพร่หลายมากกว่า และมีราคาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับ EPDM

การกระจายความเสี่ยงในธุรกิจปลายทาง: EPG มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถยนต์ร้อยละ 47 ของรายได้ทั้งหมดในปีงบการเงิน 2564 จากธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นร้อยละ 27 และจากธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหารร้อยละ 26 โดยความหลากหลายของธุรกิจปลายทางจะช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งได้ เช่นบริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจผลิตรถยนต์และธุรกิจก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหาร ที่มีการแข่งขันสูงและจำนวนคู่แข่งที่มาก นอกจากนี้ EPG ยังได้รับประโยชน์จากการที่มีการผลิตในธุรกิจเหล่านี้ร่วมกัน ในด้านการจัดหาวัตถุดิบ และการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากวัตถุดิบสำหรับการผลิตในธุรกิจเหล่านี้คือสารประกอบโพลีเมอร์และพลาสติก

ฐานลูกค้าที่กระจายตัวดี: EPG ขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ ประมาณร้อยละ 50-60 ให้กับ ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้า (Original Design Manufacturer) และผู้รับจ้างผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacturer) ให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ในส่วนที่เหลือขายให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งรถในประเทศและต่างประเทศ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ เอง สำหรับธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น รายได้ประมาณร้อยละ 30 มาจากยอดขายในประเทศ ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นการขายให้กับโครงการก่อสร้างโดยตรง และเพื่อช่วยสนับสนุนการขายในต่างประเทศ EPG มีโรงงานผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น อีกสองแห่งในประเทศสหรัฐฯ และจีน และให้ใบอนุญาตในการผลิตผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ แก่โรงงานสองแห่งในประเทศรัสเซียและอินเดีย สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับเครื่องดื่มและอาหาร รายได้ประมาณร้อยละ 90 มาจากยอดขายในประเทศ ซึ่งประมาณร้อยละ 40 ของยอดขายในประเทศเป็นการขายให้กับบริษัทฯ ผู้ผลิตเครื่องดื่มและอาหารชั้นนำ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

EPG มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า EPG ดำเนินธุรกิจแปรรูปโพลีเมอร์และพลาสติก คล้ายกับ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกในด้านการผลิต โดยมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แต่มีธุรกิจปลายทางที่แตกต่างกัน EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่าแต่มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่าซึ่งช่วยลดทอนขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่า ทั้งสองบริษัทฯ ยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ โดยมี FFO net leverage ต่ำกว่า 1.0 เท่า อันดับเครดิตจึงเท่ากัน

สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ EPG มีความใกล้เคียงกันกับของ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกวัดจากรายได้ KCE ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงด้วยการที่บริษัทเน้นผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ KCE และ EPG มีขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ KCE มี EBITDA margin และสัดส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังจากหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผลต่อรายได้ (Free cash flow margin) ที่ดีกว่า ทั้งนี้สองบริษัท มีอันดับเครดิตเท่ากัน จากสถานะทางธุรกิจที่ใกล้เคียงกันและอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำ

EPG มีรายได้และ EBITDA ที่มากกว่าบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD (อันดับเครดิตที่ BBB-(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินแบบครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย JWD มีส่วนของรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้ มากกว่า เนื่องจากมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานและสัญญาระยะปานกลางถึงระยะยาว แต่ EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจตามภูมิภาคที่มากกว่า ฐานลูกค้าของทั้งสองบริษัท มีการกระจายตัวที่ดี นอกจากนี้ อันดับเครดิตของ JWD ยังสะท้อนถึงการลงทุนที่สูงและ FCF ที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีความสามารถในการลดอัตราส่วนหนี้สินที่น้อยกว่า อีกทั้ง EPG มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่าและอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่ามาก ดังนั้นอันดับเครดิตของ EPG จึงสูงกว่า

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

  • รายได้เติบโตร้อยละ 7-8 ต่อปีในปีงบการเงิน 2565-2566 สนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น และธุรกิจชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และยอดขายที่เพิ่มจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น
  • EBITDA margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 17 ต่อปี (งบการเงินปี 2564 เท่ากับร้อยละ 17.9 และ ไตรมาสแรกของงบการเงินปี 2565 เท่ากับร้อยละ 19.2)
  • งบการลงทุนประมาณ 2.1 พันล้านบาท ในช่วงปีงบการเงิน 2565-2567
  • จ่ายเงินปันผลร้อยละ 70 ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

  • ฟิทช์คาดว่าไม่น่าจะมีปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทฯ ในช่วง 24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากขนาดธุรกิจของ EPG มีขนาดเล็กกว่าบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า

ปัจจัยลบ:

  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง หรือการลงทุนโดยใช้หนี้ที่เพิ่มขึ้น มากกว่าที่ฟิทช์คาดการไว้ ส่งผลให้อัตราส่วน FFO net leverage สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • สถานะทางธุรกิจหรือความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง ทำให้ FFO ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี: สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทฯ มีหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือน อยู่ที่ 0.9 พันล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 94 เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ มีวงเงินหมุนเวียนจากสถาบันการเงินถึงแม้ว่าจะเป็นวงเงินที่สามารถยกเลิกได้ ประมาณ 6.0 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2564 ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถ roll over หนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจออกไปได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ

ข้อมูลของบริษัท
EPG เป็นผู้นำในธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท EPDM, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวสำหรับเครื่องดื่มและอาหารในประเทศไทย EPG มีรายได้จากตลาดภายในประเทศประมาณร้อยละ 45 ของรายได้ทั้งหมด และจากตลาดในต่างประเทศประมาณร้อยละ 55 ซึ่งรายได้จากต่างประเทศมาจากประเทศออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 20 และร้อยละ 10 ตามลำดับ ส่วนที่เหลือมาจากภูมิภาคเอเซียและยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ