วันที่ 27 สิงหาคม 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมทั้ง นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมระบบผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปยังฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา จังหวัดตาก ผ่านระบบ Zoom โดยระบุว่า ประชาชนกว่า 14,481 ครัวเรือน ในเขต 4 ตำบลของอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ได้แก่ ตำบลโป่งแดง ตำบลวังประจบ ตำบลน้ำรึม และตำบลตลุกกลางทุ่ง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและถือเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซากที่อยู่ในลุ่มน้ำคลองแม่ระกา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีศักยภาพในการสร้างแหล่งเก็บน้ำที่มีความจุเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภคและสำหรับการทำเกษตรกรรม ซึ่งมีพื้นที่ 226,711 ไร่ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าว ราษฎรในพื้นที่จึงมีความประสงค์ให้จัดหาแหล่งน้ำใกล้เคียงที่มีศักยภาพมาช่วยเหลือในพื้นที่ ซึ่งเขื่อนภูมิพลมีศักยภาพในการผันน้ำมาบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ ทั้งยังสามารถส่งน้ำให้กับจังหวัดกำแพงเพชรที่อยู่ปลายคลองแม่ระกา และอาจสามารถเชื่อมโยงระบบส่งน้ำไปช่วยพื้นที่การเกษตรบางส่วนในเขตอำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ในภาวะวิกฤตภัยแล้งได้อีกด้วย
โดยกรมชลประทาน มีแผนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัย จึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมระบบผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปยังฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2563 ถึง 31 สิงหาคม 2564 รวม 450 วัน เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ โดยพบว่าแนวผันน้ำที่เหมาะสม เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำปิงบริเวณเหนือน้ำของเขื่อนแม่ปิงตอนล่างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ห่างจากเขื่อนภูมิพลลงมาทางด้านท้ายน้ำประมาณ 5 กิโลเมตร ส่งน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำไปพักไว้ที่อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำสาขาคลองแม่ระกา เพื่อส่งกระจายน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ 50,000 ไร่ ในพื้นที่โครงการ 4 ตำบล ที่ประสบปัญหา รวมทั้งพื้นที่นอกโครงการ ที่แนวท่อผันน้ำผ่าน อย่างตำบลสามเงา อำเภอสามเงา และตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก อีกประมาณ 5,000 ไร่ รวมพื้นที่รับประโยชน์ 55,000 ไร่ โดยวางแผนการส่งน้ำในฤดูแล้งเป็นหลักและเสริมน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูฝนเมื่อฝนทิ้งช่วง ซึ่งคาดว่าจะสามารถผันน้ำได้เฉลี่ยปีละ ประมาณ 55 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ดังกล่าวได้
สำหรับ องค์ประกอบสำคัญโครงการผันน้ำจากแม่น้ำปิง บริเวณเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง ไปยังฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา จังหวัดตาก ประกอบด้วย งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำแม่น้ำปิงพร้อมอาคารประกอบ, งานก่อสร้างขุดวางท่อผันน้ำจากสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำปิงไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่พร้อมอาคารประกอบ, งานก่อสร้างขุดวางท่อแยกส่งน้ำจากท่อส่งน้ำหลัก, งานปรับปรุงคลองระบายน้ำห้วยไผ่งาม, งานก่อสร้างฝายกักเก็บน้ำในคลองแม่ระกา, งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำในคลองแม่ระกา, งานก่อสร้างสถานีสูบน้ำในอ่างเก็บน้ำคลองไคร้ และงานขุดวางท่อผันน้ำจากสถานีสูบน้ำต่างๆ ในระบบกระจายน้ำ โดยมีงบประมาณก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ประมาณ 7,989.52 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี โดยในช่วงแรกเป็นขั้นตอนการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ 5 เดือน ถึง 1 ปี จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการดำเนินงานก่อสร้าง อีกประมาณ 3 ปี ทั้งนี้โครงการมีค่าดำเนินการและบำรุงรักษา ประมาณ 288 ล้านบาทต่อปี
ในส่วนการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ ซึ่งได้ดำเนินการทั้งหมด 5 ครั้ง 12 เวที ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำคลองแม่ระกา โดยเฉพาะอำเภอเมืองตาก ใน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโป่งแดง ตำบลวังประจบ ตำบลน้ำรึม และตำบลตลุกกลางทุง รวมทั้ง สนับสนุนการส่งน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการปศุสัตว์ และเพื่อการอุตสาหกรรม โดยจะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 55,000 ไร่ รวมทั้งพื้นที่นอกโครงการ อย่างตำบลสามเงา อำเภอสามเงา และตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น