สสส. แนะ 3 เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กในช่วง COVID-19 ชู 'การอ่าน - เล่นอิสระ - พื้นที่สร้างสรรค์' ช่วยคืนความสุขให้กับเด็ก

ข่าวทั่วไป Tuesday August 31, 2021 14:29 —ThaiPR.net

สสส. แนะ 3 เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กในช่วง COVID-19 ชู 'การอ่าน - เล่นอิสระ - พื้นที่สร้างสรรค์' ช่วยคืนความสุขให้กับเด็ก

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เปิดเวทีThaihealth Watch Talk หัวข้อ "เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กในช่วง COVID-19" ชี้เด็กยุคโควิดกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเนือยนิ่ง เครียด ไร้สุข แนะนำ 3 เครื่องมือ "การอ่าน - เล่นอิสระ - พื้นที่สร้างสรรค์" เพื่อสร้างพัฒนาการที่สมวัย คืนความสุขให้กับเด็กในช่วงที่ต้องเผชิญหน้ากับการเรียนออนไลน์จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ขณะนี้

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า "สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว เกือบทุกครอบครัวกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการเรียนออนไลน์ ทั้งเรื่องของเครื่องมืออุปกรณ์ ความไม่คุ้นชิ้น และการขาดกิจกรรมทางกาย เราพบว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ขณะนี้มีกิจกรรมทางกายน้อยลงมาก เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเก้าอี้ เมื่อเคลื่อนไหวน้อย สมองก็จะเฉื่อยชา การเรียนรู้ไม่เกิดประสิทธิภาพ การเรียนออนไลน์ยังส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคอ้วน ภาวะติดอินเทอร์เน็ต รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจจะแฝงมากับโลกออนไลน์ เช่น การพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งออนไลน์ ฯลฯ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ครอบครัวจะต้องมีเครื่องมือในการช่วยส่งเสริมสุขภาวะให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กๆ สามารถเผชิญหน้าและผ่านวิกฤตินี้ไปได้ทั้งในขณะนี้และในอนาคต"

โดย คุณประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ได้นำเสนอเครื่องมือการเรียนรู้สำหรับเด็กที่ทุกครอบครัวสามารถเริ่มต้นทำได้เลยภายในบ้าน นั่นคือ การเล่นอิสระ "ผู้ใหญ่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเล่นคือการเรียนรู้อย่างหนึ่งสำหรับเด็ก เป็นการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติติดตัวมากับเด็กทุกคน ในช่วงโควิดแบบนี้ แม้เด็กจะออกไปเล่นนอกบ้านไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่สามารถจัดมุมหนึ่งของบ้านเพื่อให้เด็กเล่นอิสระได้ โดยใช้สิ่งที่มีอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกล่อง กระดาษ ขวดน้ำ ถังทราย หรือของใช้ในบ้านอื่นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ได้มากกว่าของเล่นสำเร็จรูป โดยในระหว่างการเล่น ขอให้ปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ผู้ใหญ่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราได้มองเห็นศักยภาพและตัวตนที่ซ่อนอยู่ในเด็ก ซึ่งจะแสดงออกผ่านการเล่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการที่ถูกต้อง ตรงกับความต้องการของเด็กแล้ว ยังเป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว ลดความตึงเครียดจากสถานการณ์โควิดในขณะนี้อีกทางหนึ่งด้วย"

ในส่วนของ คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ได้กล่าวเสริมว่า "ยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาเด็กนอกจากการเล่น ก็คือการอ่าน สถานการณ์โควิดทำให้เกิดปัญหาติดจอ พัฒนาการของเด็กล่าช้ามากขึ้น เครื่องมือง่ายๆ ที่พ่อแม่จะช่วยเสริมให้ลูกได้ก็คือการอ่าน วิธีง่ายๆ เพียงคุณพ่อคุณแม่หาเวลาอย่างน้อย 10 นาทีต่อวัน จัดเวลาอ่านหนังสือร่วมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ในเด็กเล็กพ่อแม่ใช้วิธีอ่านออกเสียงให้ลูกฟัง การอ่านจะช่วยทำให้เด็กเปิดโลก ขยายวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลไปจากบริเวณบ้านและโลกที่คุ้นเคย นอกจากนี้การอ่านยังช่วยทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้เข้าใจภายในตัวเอง ขยายต่อไปยังความรักของครอบครัว และยังนำไปสู่การสร้างความเกื้อกูลเพื่อส่งต่อไปสู่สังคมวงกว้างต่อไปอีกด้วย"

ปิดท้ายที่ คุณสายใจ คงทน ผู้ริเริ่มโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 ดีวิถีสุข กับการใช้พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ในเด็ก โดยกล่าวว่า "สถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเครียด ทุกคนใช้สื่อหน้าจอมากขึ้น เจอหน้ากันน้อยลง การดูแลใจกันและกันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ต่าง ๆ ในการช่วยส่งต่อความรู้ สอนคุณพ่อคุณแม่จัดมุมเล่นหรือพื้นที่สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วทุกพื้นที่ในบ้านสามารถเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ได้ ไม่ว่าจะเป็นในห้องนั่งเล่น ห้องครัว สนามหน้าบ้าน ฯลฯ เด็กสามารถเรียนรู้และสนุกกับการเล่นอุปกรณ์ง่าย ๆ ที่มีอยู่ในบ้าน กิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ฯลฯ ทุกที่ทุกกิจกรรมเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สร้างเรียนรู้ให้เด็กได้ คุณพ่อคุณแม่เองก็เป็นสื่อสร้างสรรค์ให้ลูกได้เช่นกัน ขอเพียงผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ใจของตัวเองก่อน เราก็จะสามารถที่จะช่วยกันสร้างความสุขและความมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้นกับเด็กได้ในทุกวัน แม้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ก็ตาม"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ