SCB CIO ประเมินภาวะดอกเบี้ยต่ำ (ultra-low yields) จะยังอยู่ต่ออีก 1-2 ปีแม้ Fed จะเริ่มทำ QE tapering ภายในปีนี้ ส่วนประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปริมาณเงินฝากในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 1.6 ล้านล้านบาท โดยกว่า 91%มาจากบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท ขึ้นไป เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจพักเงินไว้ในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย แนะลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงและระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน โดยการลงทุนมีทางเลือกที่หลากหลาย เช่น กองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ภาครัฐ และ เอกชนในประเทศ รวมถึงหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง ที่มีการจำกัดความเสี่ยงขาลง เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก และไม่เสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย
ปริมาณเงินฝากในหลายประเทศรวมถึงในไทยเพิ่มขึ้นมากในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยในไทยปริมาณเงินฝากที่เพิ่มขึ้นกว่า 91% มาจากบัญชีที่มียอดเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท ขณะที่เงินออมส่วนเกินทั่วโลกได้ทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2Q2020 ถึง 1Q2021 นำโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และ กลุ่มยูโรโซน ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) การใช้มาตรการควบคุมการระบาดในแต่ละประเทศ เช่น การออกข้อจำกัดในการเดินทาง ส่งผลกดดันการใช้จ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2) สถานการณ์การระบาดที่ไม่แน่นอน และการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้ารักษาโรงพยาบาล ทำให้ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่าย และมีการกันเงินออมฉุกเฉินมากขึ้น ส่วนบริษัทก็ต้องกันสภาพคล่องเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนเช่นกัน และ 3) มาตรการเยียวยาจากทางการในแต่ละประเทศ โดยเงินออมส่วนเกินทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปสินทรัพย์สภาพคล่องสูง ซึ่งรวมถึงเงินฝาก สำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือน ก.พ.2020 ถึง มิ.ย.2021 ปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 1.6 ล้านล้านบาท โดยกว่า 91% มาจากจำนวนเงินฝากในบัญชีขนาดใหญ่มากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป
ภาวะดอกเบี้ยต่ำ (ultra-low yields) จะอยู่ไปอีก 1-2 ปี ในช่วงวิกฤต COVID-19 ธนาคารกลางหลักแห่งต่างๆ ได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน อัตราผลตอบแทนพันบัตร และตราสารหนี้ภาคเอกชน ของหลายประเทศ ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างช้าๆ ตามทิศทางนโยบายดอกเบี้ย ส่งผลให้ภาวะดอกเบี้ยต่ำ (ultra-low yields) จะยังอยู่ไปอีก1-2 ปี ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แม้จะส่งสัญญาณการทำ QE tapering ในปีนี้ แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเกิดขึ้นในปี 2023
อย่างไรก็ดี การคุ้มครองเงินฝากกำลังลดลง แม้จำนวนผู้ฝากเงินที่ถูกกระทบคิดเป็น 2% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด แต่จำนวนเงินฝากที่ถูกกระทบ คิดเป็นประมาณ 80% ของจำนวนเงินฝากรวม นับตั้งแต่ วันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา สถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ปรับลดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ครอบคลุมสถาบันการเงินรวม 35 แห่ง โดยประเภทเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และ ใบรับฝากเงิน ซึ่งต้องเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น ทั้งนี้ พบว่า วงเงินความคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท ยังคุ้มครองกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ ได้กว่า 98% ของผู้ฝากเงินทั้งหมดของระบบสถาบันการเงิน ขณะที่ กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบ คือ ผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเพียง 2% ของผู้ฝากเงินทั้งหมดของระบบสถาบันการเงิน แต่จำนวนเงินที่ถูกกระทบกลับคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 80% ของจำนวนเงินฝากรวม (รวมทั้งผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล, ข้อมูล ณ สิ้น มิ.ย.2021) ดังนั้น ผู้ฝากเงินที่มีจำนวนเงินในบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป จึงอาจมีความกังวลมากขึ้น เมื่อเงินฝากส่วนใหญ่อาจไม่ได้รับความคุ้มครอง ในกรณีที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากปิดกิจการ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต และผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนเพิ่มเติมหลังจากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการแล้ว
สถานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ที่ยังคงมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ทั้งในส่วนของระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ณ สิ้นปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 20% สูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และ อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 152.2% นอกจากนี้ สภาพคล่องยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity coverage ratio) หรือ LCR ของธนาคารทั้งหมด ณ สิ้นมิถุนายน 2021 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 186.7% และเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 100% ทำให้ผู้ฝากเงินอาจไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลมากนัก
ตลาดการเงินมีทางเลือกหลากหลาย โดยผู้ฝากเงินควรเลือกให้เหมาะกับความเสี่ยงและระยะเวลาที่ต้องการใช้เงิน สำหรับทางเลือกของผู้มีเงินฝาก SCB CIO มองว่าตลาดการเงินมีทางเลือกหลากหลายที่จะสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงและช่วยให้ผู้ฝากเงินสามารถวางแผนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนบางส่วนให้กับเม็ดเงินฝากได้ ผลิตภัณฑ์เงินฝากเดิมทั้ง เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก รวมถึงใบรับฝากเงิน แม้จำนวนเงินสูงสุดที่ได้รับความคุ้มครองจะลดลง แต่ผลิตภัณฑ์เงินฝากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ และไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงของความผันผวนของราคาสินทรัพย์ได้ แลกกับผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ โดยการกระจายเงินฝากไปยังสถาบันการเงินหลายแห่งที่อยู่ในความคุ้มครอง และไม่กระจุกฝากเงินไว้เพียงสถาบันการเงินเดียว เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด
นอกจากตลาดเงินฝากที่ผู้ฝากเงินใช้ผลิตภัณฑ์เงินฝากเดิมอยู่แล้ว สำหรับผู้ฝากเงินที่สามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ ตลาดตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนในผลิตภัณฑ์กองทุนรวมตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกที่มีความน่าสนใจ ผู้ฝากเงินอาจเริ่มพิจารณาทางเลือกในการออมเงินเพิ่มเติม โดยพิจารณาแบ่งเงินลงทุนบางส่วนลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศ และหากผู้ฝากเงินเข้าใจความเสี่ยงรายบริษัทเป็นอย่างดี อาจพิจารณาเลือกลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้บริษัทมหาชนชั้นนำ ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตตามความเสี่ยงที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนได้ จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) ยังบ่งชี้ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีเสถียรภาพแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงไตรมาส 2 แต่มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยยังขยายตัวที่ 2% ในช่วงครึ่งปีแรก เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2020 จากการระดมทุนที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา และจากข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) บ่งชี้ว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นกองทุนที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวม และมีสัดส่วนในตลาดกองทุนรวมสูงที่สุด สะท้อนการเติบโตทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทานของกองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งประเภทตราสารหนี้ระยะสั้นและระยาว
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภท Structured Product หรือ หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงที่มีการจำกัดความเสี่ยงขาลงไว้ เช่น Principal-Protected Product สามารถเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนพร้อมมีการกำหนดรูปแบบการคุ้มครองเงินต้นได้ อีกทั้ง ผู้ฝากเงินหรือผู้ลงทุน ยังสามารถเลือกกระจายเงินลงทุนไปยังตราสารหนี้ต่างประเทศ ตราสารทุนทั้งในและต่างประเทศได้ ซึ่งทางเลือกในการลงทุนเพิ่มเติมเหล่านี้ SCB CIO มองว่า เป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับผู้ฝากเงินหรือผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ (รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีตราสารหนี้และตราสารทุนต่างประเทศ) ซึ่งทางเลือกในการแสวงหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ นอกจากผลิตภัณฑ์เงินฝาก เพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทนนั้นเป็นทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยม เนื่องจาก ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากและตราสารหนี้ทั่วไปในภาวะดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะกับผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และ ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) อย่างไรก็ดี ทางเลือกในการลงทุนตราสารทางการเงินเหล่านี้ แม้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่มีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากทั่วไป ดังนั้น ผู้ฝากเงินและผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจถึงคุณลักษณะและความเสี่ยงของตราสารทางการเงินนั้นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ
บทวิเคราะห์โดย
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
คุณเกษรี อายุตตะกะ, CFP(R) ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office
และทีมกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Link : https://bit.ly/3mV0sBN