"Options คือ New Normal ของตลาดทุนไทย"
เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ติดตามกิจกรรม TFEX Trading Space 2021 ที่จัดขึ้นโดย TFEX มาจนถึงวันสุดท้าย ต้องได้ยินและจำประโยคนี้ได้อย่างแน่นอน จากคำพูดของ คุณปวริศวร์ ภูริเวทย์คุณากร, CFA ผู้อำนวยการฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บล. เกียรตินาคินภัทร ที่ได้กล่าวไว้ใน Options Workshop หัวข้อ "กลยุทธ์เทรดให้กำไรบนตลาดผันผวนด้วย Options" โดยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากเดิมการสร้างโอกาสทำกำไรในแต่ละครั้งต้องเฝ้ารอให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างชัดเจน แต่ Options ถือเป็น New Normal ของเครื่องมือการลงทุนที่จะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้น, ขาลง, Sideway หรือตลาดไม่มี Trend คุณก็สามารถหาช่องทางทำกำไรให้กับพอร์ตตัวเองได้ทั้งนั้น
เพื่อให้เทรดเดอร์มือใหม่เข้าใจหลักการของ Options ได้ง่ายขึ้น คุณปวริศวร์ ภูริเวทย์คุณากร จึงได้แบ่งเนื้อหาทั้งหมดเป็น 4 หัวข้อดังต่อไปนี้
Options คือสัญญาที่ผู้ขาย Options ให้สิทธิแก่ผู้ที่ซื้อไว้ ว่าจะสามารถใช้สิทธิตามราคาที่ได้ตกลงกัน บนสินทรัพย์อ้างอิง ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยหลังจากผู้ซื้อจ่ายค่าพรีเมี่ยม (Premium) ให้แก่ผู้ขายแล้ว ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ส่วนผู้ขายก็จะมีภาระผูกพันหากผู้ซื้อได้ขอใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งตลาด Options ก็เป็นตลาดแบบ Zero Sum Game คือถ้าฝั่งหนึ่งได้อีกฝั่งหนึ่งก็จะเสีย เป็นการเอาผลกำไร/ขาดทุน จากอีกฝั่ง โดย Options สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ Call Options และ Put Options
- Call Options เป็น "สิทธิในการซื้อ" ราคาของ Call Options จะขยับตามราคาสินทรัพย์อ้างอิง ผู้ซื้อจะใช้สิทธิก็ต่อเมื่อราคาสินค้าอ้างอิงนั้นปรับตัวขึ้น แล้วรับกำไรจากส่วนต่างของราคาที่ปรับตัวขึ้นไป หรือจะปิดสถานะก่อนวันหมดอายุสัญญาก็ได้ (เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของค่า Premium ที่ซื้อขาย) ถ้าจะเปรียบ Call Options ก็คล้าย ๆ กับ "ใบจองคอนโด" เราเสียเงิน (Premium) ซื้อใบจองมาถือสิทธิในการใช้ซื้อจริงได้ หรือจะขายใบจองต่อหากราคาปรับตัวขึ้นก็ทำได้
- Put Options เป็น "สิทธิในการขาย" ราคาของ Put Options จะขยับสวนทางกับราคาสินทรัพย์อ้างอิง ผู้ซื้อจะใช้สิทธิก็ต่อเมื่อราคาสินค้าอ้างอิงนั้นปรับตัวลง แล้วรับกำไรจากส่วนต่างของราคาที่ปรับตัวลงมา หรือจะปิดสถานะก่อนวันหมดอายุสัญญาก็ได้ (เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของค่า Premium ที่ซื้อขาย) ซึ่ง Put Options สามารถนำมาใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ถ้าจะเปรียบเทียบก็คล้ายๆ กับ "ประกันโควิด" เรากลัวป่วยไม่อยากเจอความเสี่ยงก็จ่ายเบี้ยประกัน (Premium) หากไม่ได้ใช้ก็แสดงว่าทุกอย่างราบรื่นเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ แต่หากติดเราก็ยังได้เงินหรือเคลมค่าเสียหายตามส่วนที่เราซื้อประกันไว้ได้
ATM, ITM, OTM คืออะไร
- At-The-Money หรือ ATM คือ Options ที่มีราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ใกล้เคียงกับดัชนีปัจจุบันที่สุด ซึ่งแต่ละซีรีส์จะมีเพียงตัวเดียว
- In-The-Money หรือ ITM หากเป็น Call Options คือ Options ที่มีราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ต่ำกว่าดัชนีปัจจุบัน ทำให้ราคา Premium จะสูงกว่า ATM เพราะหากซื้อ Option ITM มาจะมีโอกาสได้ใช้สิทธิมากกว่า ATM และ OTM ซึ่งหากเป็นกรณี Put Options ที่เป็น ITM จะมีราคาใช้สิทธิสูงกว่าดัชนีปัจจุบัน
- Out-of-The-Money หรือ OTM หากเป็น Call Options คือ Options ที่มีราคาใช้สิทธิ (Strike Price) สูงกว่าดัชนีปัจจุบัน ทำให้ราคา Premium จะต่ำกว่า ATM เพราะด้วย Strike Price ที่สูง ซื้อมาแล้วก็ยังต้องรอลุ้นโอกาสใช้สิทธิในอนาคตว่าราคาจะปรับตัวขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกรณี Put Options ที่เป็น OTM จะมีราคาใช้สิทธิต่ำกว่าดัชนีปัจจุบัน
ประโยชน์ของ Options
- ใช้เก็งกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง
- จำกัดขาดทุนแต่มีโอกาสได้กำไรไม่จำกัดในฝั่ง Long
- ใช้เงินลงทุนไม่เยอะ
- ช่วยกระจายความเสี่ยง
- นำไปสร้างกลยุทธ์การเทรดได้หลากหลาย
ความเสี่ยงของ Options
- ความเสี่ยงด้านราคาดัชนีอ้างอิง (Market Risk)
- ความเสี่ยงด้านความผันผวน (Volatility Risk)
- ความเสี่ยงด้านค่าความเสื่อมเวลา (Time Decay)
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
หลังจากเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่อง Options กันเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่นักลงทุนจะนำหลักการเหล่านั้นมาปรับหรือประยุกต์ใช้เพื่อหาโอกาสทำกำไรโดยการสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งคุณปวริศวร์ ก็ได้กล่าวถึงทั้ง 2 แบบ คือ กลยุทธ์ขั้นพื้นฐาน และ กลยุทธ์ขั้นประยุกต์
กลยุทธ์ขั้นพื้นฐาน
- ซื้อ Call Options: เมื่อคาดว่าดัชนีจะขึ้นมากๆ ขาดทุนไม่เกินค่า Premium ที่จ่ายไป มีสิทธิกำไรไม่จำกัดหากถูกทาง
- ซื้อ Put Options: เมื่อคาดว่าดัชนีจะตกมากๆ ขาดทุนไม่เกินค่า Premium ที่จ่ายไป มีสิทธิกำไรไม่จำกัดหากถูกทาง
- ขาย Call Options: เมื่อคาดว่าดัชนีมีโอกาส Sideway หรือลงมากกว่าจะขึ้น กำไรจำกัดแค่ค่า Premium ที่ได้รับ มีสิทธิขาดทุนไม่จำกัดหากผิดทาง
- ขาย Put Options: เมื่อคาดว่าดัชนีมีโอกาส Sideway หรือขึ้นมากกว่าจะลง กำไรจำกัดแค่ค่า Premium ที่ได้รับ มีสิทธิขาดทุนไม่จำกัดหากผิดทาง
กลยุทธ์ขั้นประยุกต์
- Call Spread: คาดว่าดัชนีจะขึ้น จ่าย Premium ถูกลง แต่จำกัดกำไร เป็นการซื้อ Call Options ที่ ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ต่ำ คู่กับการขาย Call Options ที่ ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) สูง
- Put Spread: คาดว่าดัชนีจะตก คล้ายๆ Call Spread คือจ่าย Premium ถูกลง แต่จำกัดกำไร เป็นการซื้อ Put Options ที่ ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) สูง คู่กับการขาย Put Options ที่ ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) ต่ำ
- ซื้อ Straddle: คาดว่าราคาดัชนีจะมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นการซื้อ Call Options คู่กับการซื้อ Put Options ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) เดียวกัน แต่เราจะแบกต้นทุนค่า Premium ค่อนข้างสูง
- ขาย Straddle: คาดว่าดัชนีจะไม่ไปไหนเป็น Sideway และมีความผันผวนต่ำ เป็นการขาย Call Options คู่กับการขาย Put Options ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) เดียวกัน ซึ่งจะได้รับค่า Premium จากทั้งสองฝั่ง แต่สามารถขาดทุนไม่จำกัดเช่นกัน
- เลือกซื้อขาย Series ที่มี Liquidity หรือสภาพคล่องสูง เช่น ตัวที่หมดอายุรายไตรมาส
- เลือก Strike Price ที่อยู่แถว ATM เพราะจะได้มี Liquidity
- ดู Volume, OI ประกอบ เพราะเราซื้อเพื่อ Trade ไม่ได้ซื้อเพื่อถืออย่างเดียวจนหมดอายุ
- เลือกประเภทหรือกลยุทธ์ Options ให้เหมาะกับการคาดการณ์สภาวะตลาด
- วางแผนการลงทุนโดยใช้เครื่องมือคำนวณราคา Options
เครื่องมือที่คุณปวริศวร์ ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการคำนวณหามูลค่า Options ก็คือ Black-Scholes Model ซึ่งเป็นโมเดลที่ให้ผลแม่นยำโดยเฉพาะสำหรับ European Options หากต้องการนำโมเดลนี้ไปใช้ นักลงทุนควรพิจารณาในเรื่องของความผันผวนของดัชนี (Volatility) และ Implied Volatility หรือค่าความผันผวนที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งคุณปวริศวร์ ได้บอกไว้ว่าค่าความผันผวนประเภทนี้เปรียบเสมือนเป็นตัวชี้วัดว่าตลาดอยู่ในสภาวะกลัวหรือกล้า ยิ่งค่าความผันผวนนี้สูงเท่าไหร่ ตลาดจะมีความกลัว แต่ในขณะเดียวกันถ้าค่าความผันผวนนี้ต่ำ ตลาดจะมีความกล้า ซึ่งการซื้อขาย Options หากเราเป็นผู้ซื้อและคาดการณ์ทิศทางได้ถูกด้วยแล้ว ยังอาจได้ Profit Gain มากขึ้นจากเรื่องความผันผวนของสภาพตลาดช่วยอีกแรงด้วย
สามารถดูค่า Implied Volatility และคำนวณสูตร Black-Scholes Model ได้ที่เว็บไซต์ TFEX
https://www.tfex.co.th/tfex/optionsCalculator.html
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้เล่นที่ชอบความเสี่ยงเข้าซื้อ Call Options ในช่วง Out-of-The-Money หรือผู้เล่น Call Spread ที่ยอมจำกัดกำไรของตัวเองเพื่อจะได้จ่ายค่าพรีเมี่ยมน้อยลง ก็อย่าลืมไปว่าการลงทุนในตลาดที่ผันผวนสูงอย่าง TFEX นั้นต่อให้คุณสร้างกลยุทธ์ใหม่มาเป็นอีกสักร้อยหรือพันวิธี หากขาดวินัยและการลงมือปฏิบัติจริง ผลตอบแทนก็จะเป็นเพียงแค่สิ่งที่คุณคาดการณ์ขึ้นมาเท่านั้น ไม่สามารถก่อให้เกิดผลกำไรได้ขึ้นมาจริง ๆ
รับชม TFEX Trading Space 2021 ฉบับเต็มย้อนหลังได้ที่นี่ https://setga.page.link/8wJqDX5YRUdDTrRH7