JMART GROUP วางเกม Power of Synergy ชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง 6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มต่อจิ๊กซอว์ภายในกลุ่มบริษัท และผลักดันผลการดำเนินงานทำนิวไฮมาโดยตลอด โดยประกาศงบครึ่งปีแรกท็อปฟอร์มไม่ทันไร เดินหน้ากางแผนผนึกกลุ่ม BTS จับตานิว J Curve รอบใหม่ด้วยฐานทุนที่แข็งแกร่งกว่าเดิม คาดดีลเพิ่มทุนครั้งนี้จะแล้วเสร็จ Q4/64 จะทำให้เกิดบิ๊กมูฟครั้งใหญ่ ขยายไปยังกลุ่ม B2C ตอกย้ำเจมาร์ทเป็น "King of Consumer Retail and Finance" โดยมี บ.เจเวนเจอร์ส (JVC) อยู่เบื้องหลังอีโคซิสเต็มส์ครั้งใหญ่นี้ ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ด้าน บมจ.เจเอ็มที (JMT) และ บมจ.ซิงเกอร์ (SINGER) วางเป้าขยายพอร์ตขึ้นเป็นเบอร์ 1 ภายใน 5 ปี ภาพรวมกลุ่มบริษัทมองครึ่งปีหลังนี้โตกว่าครึ่งปีแรก โค้งสุดท้ายเป็นบวกต่อธุรกิจค้าปลีกมือถือ ซื้อหนี้ และการปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้า ด้าน บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท เตรียมเปิดคอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ต้นธันวาคมนี้
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ในฐานะบริษัทโฮลดิ้งที่มีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Investment Holding Company (IHC) เปิดเผยว่า มั่นใจธุรกิจปีนี้จะสามารถทำ All Time High หลังภาพรวมครึ่งปีแรกที่ผ่านมา JMART มีการเติบโตมากกว่า 100% จากทุกบริษัทในกลุ่ม โดยมีธุรกิจค้าปลีก ภายใต้ บ.เจมาร์ท โมบาย (JMB) และ บ.บีนส์ แอนด์ บราวน์ ส่วนธุรกิจการเงินจาก บมจ.เจเอ็มที (JMT) และ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และพื้นที่เช่าจาก บมจ.เจเอเอสแอสเซ็ท (J) รวมทั้ง ธุรกิจเทคโนโลยีและบล็อกเชนจาก บ.เจเวนเจอร์ส นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบริษัท KB Kookmin Card ที่เข้ามาพาร์ทเนอร์ในบริษัทเจฟินเทค หรือปัจจุบันคือ บ.เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด (KB J Capital) เติมเต็มอีโคซิสเต็มส์ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ได้อย่างสมบูรณ์ ตอกย้ำปีนี้ทำนิวไฮมาต่อเนื่องได้
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทเจมาร์ทตั้งเป้าปี 2564 แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 กลุ่มบริษัทยังสามารถทำกำไรให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่ต่ำกว่า 50% และจะเติบโตต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการมีฐานเงินทุนใหม่เข้ามาจาก VGI และ U City ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม BTS Group Holdings คาดดีลจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/2564 ทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นในการสร้างซินเนอร์ยี่ และอีโคซิสเต็มส์ที่ใหญ่กว่าเดิม ต่อจิ๊กซอว์ในการขยายผลิตภัณฑ์ ขยายช่องทางการจำหน่าย ซึ่งทั้งสองกลุ่มบริษัท ยังมีโปรเจกต์จำนวนมากที่เตรียมผนึกกำลังกัน เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มคอนซูเมอร์ที่เจมาร์ทให้ความสำคัญ และแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนแผนรุกธุรกิจโลจิสติกส์ให้เกิดขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น ตามแผนงานที่ประกาศในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเจมาร์ทยังมีแผนต่อไป ในการเข้าไปรุกธุรกิจประกันเพิ่มเติม
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) ผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพภาคเอกชนรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยถึง ภาพรวมธุรกิจบริหารหนี้มีการเติบโตชัดเจน JMT มีการขยายเงินลงทุนต่อเนื่องเพื่อซื้อหนี้เข้ามาบริหาร และการผสานพลังภายในกลุ่ม สนับสนุนให้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2564 JMT มีพอร์ตบริหารหนี้รวมประมาณ 217,557 ล้านบาท เป็นผู้นำพอร์ตบริหารหนี้ด้อยคุณภาพประเภท Unsecure Loan ที่ใหญ่สุดในประเทศ โดยเป็นหนี้ด้อยคุณภาพที่ตัดต้นทุนครบแล้ว 49,513 ล้านบาท และครึ่งปีแรกใช้งบลงทุนซื้อหนี้ไปแล้ว 3,336 ล้านบาท คาดครึ่งปีหลังเติบโตกว่าครึ่งปีแรก
ทั้งนี้ JMT เติบโตต่อเนื่องตลอด 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ถึงปีที่ผ่านมา JMT มีกำไรสุทธิเติบโตมากกว่า 11 เท่า จากการขยายงบลงทุนต่อเนื่อง และสะท้อนความเชื่อมั่นในอนาคต ด้วยแผนเพิ่มทุนแบบ RO ในครั้งนี้ จะทำให้งบลงทุนซื้อหนี้เข้ามาบริหารในปีนี้สามารถเพิ่มวงเงินไปถึงระดับ 7,000 ล้านบาท จากเดิมวางไว้ที่ 6,000 ล้านบาท รองรับโอกาสหนี้ในระบบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งงบลงทุนที่เกิดขึ้นจะสอดคล้องกับหนี้ด้อยคุณภาพที่จะออกมาในช่วงไตรมาส 4 นี้ด้วย และมองปี 2565 น่าจะขยายเงินลงทุนได้อีกเท่าตัว หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการเติบโตไปข้างหน้า สนับสนุนให้ JMT ก้าวกระโดดได้ไวขึ้น ภายใน 5 ปี ตั้งเป้าเป็นเบอร์หนึ่งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่มีพอร์ตใหญ่ที่สุดในประเทศ พร้อมรักษาความสามารถในการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER เปิดเผยว่า ในปี 2564 เชื่อว่า SINGER จะสามารถทำกำไรที่ดีที่สุดในรอบ 132 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง จากการขยายพอร์ตสินเชื่อตามเป้าหมาย และการบริหารจัดการต้นทุนการเงินที่ดี ชูจุดแข็งมีทีมขายกระจายทั่วประเทศ และปัจจุบัน มีร้านสาขาและแฟรนไชส์รวมกว่า 2,800 แห่ง สนับสนุนให้ ณ สิ้นมิถุนายน 2564 มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8,569 ล้านบาท โดยพอร์ตหลักเป็นพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) 4,636 ล้านบาท ส่วนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase : HP) อยู่ที่ 3,933 ล้านบาท ภาพรวมครึ่งปีหลังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากการบริหาร Product Mix และการเปิดตัวสินค้าใหม่เติมพอร์ต รวมทั้ง การเติบโตของสินเชื่อ C4C ในอัตราเร่งต่อเนื่อง ควบคู่การขยายธุรกิจประกัน ตั้งเป้าสิ้นปีนี้พอร์ตสินเชื่อโตทะลุ 10,000 ล้านบาท และในปี 2565 ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปลดล็อกข้อจำกัดต้นทุนทางการเงินที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากแผนเพิ่มทุนแบบ RO และ PP โดยมี U City เข้ามาถือหุ้นครั้งนี้ สนับสนุนให้บริษัทฯ มีเงินเข้ามาราว 1.1 หมื่นล้านบาท วางแผนนำไปใช้คืนหนี้หุ้นกู้ในอีก 2 ปีข้างหน้าราว 3.3 ล้านบาท ทำให้ค่าใช้จ่ายทางดอกเบี้ยลดลง และเงินก้อนใหญ่อีกราว 7.7 พันล้าน จะนำไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อ HP และ C4C ในช่วง 2 ปีจากนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยชูโรงให้ SINGER โตได้อย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้ D/E ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่กว่า 0.5 เท่า จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 2.1 เท่า ส่งผลบวกต่อเครดิตเรทติ้งต่อไปในอนาคต ทำให้ฐานต้นทุนการเงินและความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ บ.เอสจี แคปปิตอล (SGC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SINGER จะเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2565 ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการขยายพอร์ตสินเชื่อให้เติบโตขึ้น สนับสนุนเป้าหมายการเป็นเบอร์ 1 ในแง่มูลค่าพอร์ตที่ใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนสินเชื่อรถทำเงินระดับ 70% ของพอร์ตภายใน 3-5 ปีจากนี้
นายสุพจน์ สิริกุลภัสสร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจพื้นที่เช่าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึง ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตที่ดีต่อเนื่อง แม้ในครึ่งปีแรกบริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่สามารถรายงานผลกำไรเติบโตได้อย่างโดดเด่นมากกว่า 100% จึงมั่นใจปีนี้จะอยู่ในเทรนด์การเติบโตที่ดี โดยเตรียมเปิดตัวศูนย์การค้าชุมชน "JAS GREEN VILLAGE - KUBON" บนถนนคู้บอน ย่านรามอินทรา ในช่วงต้นเดือนธันวาคมปีนี้ ปัจจุบันมีอัตราเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) อยู่ในระดับสูงแล้วกว่า 95% สนับสนุนให้ในสิ้นปี จะมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบศูนย์การค้าชุมชนภายใต้การบริหารแบรนด์ The Jas 5 โครงการ
อย่างไรก็ดี เจเอเอส แอสเซ็ท กำลังเพิ่มความแข็งแกร่ง โดยการเข้าสู่ธุรกิจ Health Care and Service ภายใต้แบรนด์ "SENERA" เตรียมเปิดให้บริการปลายปี 2565 ซึ่งจะเป็นโปรเจกต์ Senior Wellness ที่แรกของบริษัทฯ และในเครือเจมาร์ท สอดรับเทรนด์ในอนาคต และจะเปิดให้บริการที่ศูนย์การค้าชุมชน JAS GREEN VILLAGE - KUBON ที่แรก
ด้าน นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ JVC เปิดเผยว่า หน้าที่ของ JVC คือการขับเคลื่อนเทคโนโลยี และพัฒนาเรื่องบล็อกเชน ผสานพลังซินเนอร์ยี่ภายในกลุ่ม ด้วยการใช้จุดแข็งเจมาร์ทเป็น King of Consumer Retail อยู่แล้ว ฐานลูกค้าส่วนใหญ่คือกลุ่ม B2C จะสามารถปรับเปลี่ยนให้เจมาร์ทมีแต้มต่อในการเดินเกมธุรกิจมากกว่าใคร
นอกจากนี้ กลุ่มเจมาร์ท มีเหรียญ JFIN ซึ่งเป็น Utility Token ที่สามารถนำไปใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ โดยได้เริ่มจัดทำแคมเปญร่วมกับกลุ่มเจมาร์ทในการทำกิจกรรม JFIN Adoption หรือโปรโมชั่น "ลด แลก แจก JFIN" ซึ่งเริ่มแคมเปญในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน JFIN Adoption กว่า 400,000 คนแล้ว ทั้งนี้ ในการจัดทำแคมเปญเหล่านี้มีเข้าร่วม 11 บริษัท รวมประมาณ 23 โปรแกรม และใช้ JFIN ผ่านแคมเปญครั้งนี้ในการแลกเปลี่ยนแล้วประมาณ 3 ล้าน JFIN ให้ประโยชน์ต่อกลุ่มเจมาร์ท ประมาณ 330 ล้านบาท ทั้งนี้ อาจเห็น JFIN ไปใช้เป็นกลไกทางธุรกิจในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกมาก รวมถึง แผนการจับมือกับกลุ่ม BTS คาดเห็นความชัดเจนภายในปี 2565 และเดินหน้าพัฒนาบล็อกเชน พร้อมด้วย Digital Lending Platform เพื่อเข้าสู่ฟินเทค ขยายธุรกิจปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบจากธนาคารได้
นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด หรือ JAYMART MOBILE ผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายมือถือและอุปกรณ์เสริม เปิดเผยถึง ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 94 ล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วทั้งปีกำไรอยู่ที่ประมาณ 84 ล้านบาท เติบโตแม้ภายใต้สถานการณ์โควิด จากการบริหารจัดการอย่างรัดกุม แม้ต้องมีการปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า โดยเจมาร์ทปรับเกม เปิดร้านเจมาร์ทซินเนอร์ยี่ช้อปผ่านช่องทาง SINGER และในพื้นที่ของบริษัทในเครือ รวมทั้งขยายในรูปแบบนอกห้างสรรพสินค้า ด้วยต้นทุนในระดับต่ำ ได้แก่ Mobile Truck และเปิดจุดขาย Pop up Store ทำให้เจมาร์ทโมบายมีช่องทางการจำหน่ายนอกห้างสรรพสินค้าแล้วมากกว่า 65 สาขา และมีสาขาในห้างสรรพสินค้า 207 สาขา นอกจากนี้ บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการขยายสินเชื่อโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค
มองครึ่งปีหลังเติบโตกว่าครึ่งปีแรก โดยปัจจุบัน ภาพรวมการเปิดสาขากลับมาดำเนินงานได้ตามปกติแล้ว หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ควบคู่การขยายผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไป รองรับการปรับตัวของประชาชนเพื่อเข้าสู่การทำธุรกรรมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ความต้องการใช้โทรศัพท์มือถือและสินค้าเทคโนโลยีเติบโตขึ้น นอกจากนี้ การจัดแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ สนับสนุนโอกาสในการขยายตลาด และภาพรวมกำไรปีนี้ที่คาดว่าจะโตเท่าตัว ด้วยทิศทางการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น