อาจารย์สัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรนาโนเทคโนโลยีบำรุงผิวและส่งเสริมสุขภาพไก่ชน รักษาโรคเชื้อรา กำจัดไรไก่และปรสิตต่างๆ เล็งต่อยอดใช้กับไก่ในปศุสัตว์ รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและกลุ่มยาโรคผิวหนังในคน
การเลี้ยงไก่ชนเป็นวิถีในวัฒนธรรมไทยมายาวนาน มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาการเลี้ยงไก่ชนจากรุ่นสู่รุ่น หนึ่งในนั้นคือการใช้สมุนไพรเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของไก่ชน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีการใช้สมุนไพรแบบเดิมอยู่บ้าง และผู้เลี้ยงบางส่วนก็หันไปสู่การใช้ยาเคมีซึ่งอันตรายทั้งกับไก่ชนและคนเลี้ยง
อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ ยะทา อาจารย์ประจำหน่วยชีวเคมี ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เห็นคุณค่าภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรรักษาไก่ชน ซึ่งถึงแม้จะมีข้ออ่อนบางประการแต่ก็เติมเต็มได้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
"วัตถุดิบสมุนไพรที่ใช้อยู่เป็นรูปแบบดั้งเดิมที่ร่างกายสัตว์ไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์กล่าวถึงปัญหาที่เป็นแรงบันดาลใจสู่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรนาโนเทคโนโลยีเพื่อดูแลสุขภาพ สวัสดิภาพ และเพิ่มอัตรารอดชีวิตไก่ชน
ไก่ชนกับปัญหาสุขภาพผิวที่อาจลามถึงชีวิต
อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ เผยว่าปัญหาสุขภาพที่พบในไก่ชนมักมาจากไรหรือปรสิตต่างๆ ที่อยู่ตามผิวหนังและขนของไก่ นอกจากนั้นก็ยังมีโรคเชื้อราและกลากบริเวณผิวหนัง ซึ่งสังเกตได้จากเยื่อขุยขาวๆ ที่ผิวหนังของไก่
"ไรและปรสิตจะดูดเลือดและกัดกินเนื้อเยื่อผิวหนังของไก่ ทำให้ไก่เกิดความเครียด ถ้าเป็นแม่ไก่ก็จะไม่ออกไข่ และหากทิ้งปัญหานี้ไว้นาน ไก่จะซูบผอมลง มีภาวะโลหิตจาง ภูมิต้านทานต่อโรคลดลงในที่สุด"
ปัจจุบัน ผู้เลี้ยงไก่ชนบางรายจัดการกับปัญหานี้ด้วยการนำไก่ทั้งตัวไปแช่ในน้ำที่ผสมยาฆ่าแมลง
"วิธีนี้อาจจะได้ผลเร็วแต่ก็ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในตัวไก่ได้ ซึ่งหากสะสมเป็นเวลานานก็อาจเป็นอันตรายต่อไก่และคนเลี้ยง" อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ กล่าวเตือน
การใช้ยาเคมีมีอันตราย ส่วนการใช้ยาสมุนไพรด้วยวิธีดั้งเดิมก็อาจไม่ค่อยได้ผล อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ กล่าว "อย่างโรคกลากเกลื้อน ภูมิปัญญาการเลี้ยงไก่ชนจะใช้สมุนไพรผงขมิ้นทาตัวไก่ ใช้ขมิ้นจำนวนมากแต่ไม่สู้จะได้ผล เพราะผิวหนังของคนหรือของสัตว์มักไม่ยอมให้อะไรผ่านเข้าไปง่ายๆ"
หลากผลิตภัณฑ์สมุนไพรนาโนเทคโนโลยีเพื่อไก่ชน
อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ แก้ปัญหาสารออกฤทธิ์ในสมุนไพรที่ยากจะซึมซับเข้าสู่ผิวหนังไก่ชน ด้วยการใช้เทคโนโลยีนาโนเพื่อให้นำส่งสารออกฤทธิ์ผ่านผิวหนังได้มีประสิทธิภาพขึ้น และได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของไก่ชน ดังนี้
- ไฟโตนาโน-ไฮโดรเจล (PhytoNano-Hydrogel) สำหรับการรักษาโรคเชื้อราในไก่ชน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารออกฤทธิ์ในสมุนไพรไทย 2 ชนิด คือ สาร Eugenol จากน้ำมันกานพลู ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย และสาร Curcumin จากขมิ้นชัน ที่ช่วยสมานแผลและลดการอักเสบของผิวหนังที่ติดเชื้อ
"นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นการนำสมุนไพรมารวมกับเทคโนโลยีไฟโตนาโน-ไฮโดรเจล ที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำ ซึ่งเตรียมจากโพลีเมอร์ที่มีโครงร่างตาข่าย จึงมีคุณสมบัติพิเศษทำหน้าที่ตรึงโมเลกุลสารสำคัญบนผิวหนังและปล่อยสารออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอาศัยระบบนำส่ง "อนุภาคพฤกษานาโน" (PhytoNanoparticles) ช่วยเพิ่มความสามารถในการแทรกซึมผ่านเนื้อเยื่อและให้สารสำคัญออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น"
- ไฟโตนาโน-สเปรย์และแชมพูอนุภาคพฤกษานาโน กำจัดไรไก่และปรสิต เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารออกฤทธิ์เป็นอนุภาคนาโนห่อหุ้มน้ำมันหอมระเหย 3 ชนิด ได้แก่ กานพลู อบเชย และตะไคร้หอม ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าไรไก่และไล่ยุง รวมถึงแมลงรบกวนอื่นๆ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
- ผลิตภัณฑ์ไฟโตนาโน-ไฮโดรเจลจากสารสกัดขมิ้นชันสำหรับดูแลผิวพรรณไก่สวยงาม เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลสุขภาพผิวพรรณไก่ชน โดยสารออกฤทธิ์สำคัญคือสารประกอบเชิงซ้อนโรโซไซยานิน (Rosocyanin) ที่เกิดจากสารสกัดเคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoids) จากขมิ้นชันและแร่บอเรต (Borate) ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพในการบำรุงผิวหนัง เสริมสร้างความแข็งแกร่งของผิวหนังไก่ ช่วยให้ผิวหนังแดง สดใส สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ ได้แก่ แบคทีเรียและเชื้อราบนผิวหนัง
ล่าสุด ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อการต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แล้ว
อนาคตนาโนเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพคนและสัตว์
ไม่เพียงไก่ชน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนาโนเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถใช้กับการเลี้ยงไก่ในปศุสัตว์ได้เช่นกัน ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ที่ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไรไก่
"เราอาจจะนำผลิตภัณฑ์นี้ไปต่อยอดเป็นสเปรย์พ่นในเล้าไก่เพื่อแก้ปัญหาด้านปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงไก่เนื้อ และไก่ไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสด้านการตลาด" อาจารย์ ดร.ธีรพงศ์ กล่าวและทิ้งท้ายถึงโอกาสในการนำนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในคน เช่น เครื่องสำอาง และกลุ่มยาต่างๆ ในการนำส่งอนุภาคนาโนผ่านทางผิวหนัง