การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย ทีมจิตอาสากฟผ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเทคโนโลยีอัฉริยะซอฟต์แวร์ ArcGIS โดย บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ชูการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันแบบฟอร์ม ArcGIS Survey123 เข้าบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยโควิด -19 ที่กำลังรอเตียงในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เพิ่มประสิทธิภาพคัดกรองส่งต่ออย่างเป็นระบบ หนุนภารกิจการบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยฯ พร้อมส่งต่อรับการรักษาทันท่วงที เสริมทัพจัดการด้วย ArcGIS Dashboard ช่วยบริหารข้อมูลวางแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เร่งประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานหนุนใช้เทคโนโลยีสู้วิกฤตโควิด หวังเดินหน้าประเทศไทยผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน โดยล่าสุดรวบรวมและส่งต่อผู้ป่วยแล้วกว่า 975 คนทั่วนครนนท์
แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ยังคงพบการติดเชื้อและการระบาดอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ และส่งผลให้มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากที่แจ้งข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความช่วยเหลือและรอการส่งต่อการรักษาที่เหมาะสม ทำให้หลายหน่วยงานเร่งประสานความร่วมมือนำเอาสรรพกำลังความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งดึงเทคโนโลยีด้านต่างๆเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยหนึ่งในพื้นที่สำคัญของการระบาดและเดินหน้ารับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ พื้นที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งทีมจิตอาสาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเอาซอฟแวร์ ArcGIS โดย บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ และมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ArcGIS ในประเทศไทยมากว่า 30 ปี จึงได้นำเอาศักยภาพสำคัญของซอฟแวร์มาใช้ในการจัดทำระบบเก็บข้อมูลและสรุปผลข้อมูลผู้ป่วย COVID-19 ที่รอเตียงในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อจัดส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีในการวางแผนการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
สำหรับภาพรวมภารกิจจิตอาสาในครั้งนี้ ทีมงานจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำเอาซอฟต์แวร์ ArcGIS ในฟังก์ชันแบบฟอร์มสำรวจสำเร็จรูป "ArcGIS Survey123" ที่เป็นแอปพลิเคชันพร้อมใช้งานสำหรับสร้างแบบฟอร์มเก็บข้อมูลโดยเฉพาะ มีความสามารถโดดเด่นในการวิเคราะห์ประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว โดยทีมจิตอาสาฯ จะทำการสร้างแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูลและระบุตำแหน่งพิกัดที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยลงในแผนที่ด้วยระบบ Pinpoint (ผู้ให้บริการข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งใประเทศไทย โดยบริษัท บียอนด์ ซี จำกัด) จากนั้นทีมจิตอาสาฯ จะตรวจสอบและค้นหาพิกัดที่อยู่ของผู้ป่วยเพื่อยืนยันข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำที่สุดในระบบอีกครั้ง ซึ่งแบบฟอร์มสำรวจนี้ยังสามารถแนบรูปภาพหรือเอกสารผลการตรวจเชื้อ Covid-19 เพื่อใช้ในการรับผู้ป่วยได้รวดเร็วและถูกต้อง ข้อมูลที่ได้จะถูกรายงานเข้าฐานข้อมูลแบบ real-time พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่อได้ทันที
นอกจากการบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 และเพื่อให้การติดตามภาพรวมของสถานการณ์มอนิเตอร์สถานะที่เป็นปัจจุบัน โดย ESRI ยังร่วมกับบริษัท จีไอเอส จำกัด นำแพลตฟอร์ม ArcGIS Dashboard สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทีมงานจิตอาสา กฟผ. ในการรายงานสรุปผลข้อมูลผู้ป่วยที่กำลังรอเตียงในรูปแบบ Interactive dashboard สามารถแสดงรายละเอียดข้อมูลของผู้ป่วยตามประเภทต่างๆ ได้ อาทิ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังอาการเป็นพิเศษ, พิกัดตำแหน่งบ้านของผู้ป่วยเพื่อดูการกระจายตัวการระบาดในพื้นที่ควรเฝ้าระวัง, ประเภทของที่พัก ตลอดจนวิธีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 และสามารถเลือกกรองข้อมูลตามประเภทที่ต้องการให้แสดงบนแอปพลิเคชันได้ เช่น ต้องการทราบข้อมูลผู้ป่วยในบางพื้นที่ เพื่อให้เห็นสัดส่วนของผู้ป่วยในด้านต่างๆ หรือแสดงรายละเอียดทั้งหมดนี้ได้อย่างสะดวกในแอปพลิเคชันเดียว นอกจากนี้ในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ป่วยฯ (Data Privacy) เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ข้อมูลของผู้ป่วยที่ส่งเข้าระบบจะถูกเก็บเป็นความลับตามมาตรการที่กำหนด บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยได้
ปัจจุบัน ภารกิจภายใต้ทีมงานจิตอาสา กฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนนทบุรี ได้รวบรวมฐานข้อมูลและส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 แล้วจำนวน 975 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ย. 2564)
"กฟผ. พร้อมด้วย ESRI และบริษัท จีไอเอส จำกัด รวมถึงทีมจิตอาสาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอร่วมเป็นอีกหนึ่งกำลังสนุบสนันสำคัญใช้เทคโนโลยีร่วมบริหารจัดการการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ พร้อมทั้งขอส่งกำลังใจถึงผู้ปฎิบัติงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ด้วยความร่วมมือร่วมใจที่เกิดขึ้นนี้ย่อมสามารถพาประเทศไทยข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน"
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ArcGIS : www.esrith.com