ในขณะที่คนไทยและนานาประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อเนื่องมาหลายระลอก ซึ่งทำให้ต้องหยุดการเดินทางและกิจกรรมหลายอย่างในการใช้ชีวิตประจำวันตามมาตรการควบคุมโรคแต่ละช่วงเวลานั้น ภาวะธรรมชาติอื่นๆ ที่มนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันยังคงเป็นไปตามวัฏจักรและปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบ เราจึงไม่สามารถขอไม่ให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจส่งผลต่อชีวิตของเราได้ ภัยแผ่นดินไหวก็เช่นเดียวกัน
ประชาชนในหลายประเทศที่อาศัยในเมืองที่ต้องล็อกดาวน์ (Lockdown) มีข้อสังเกตและสงสัยกันว่า การล็อกดาวน์เมืองในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยขึ้นหรือไม่ เพราะรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้บ่อยขึ้นกว่าปกติ
รศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล มีคำตอบในข้อสงสัยข้างต้นนี้ โดยกล่าวว่า หลายเดือนที่ผ่านมาพบว่า เครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในหลายๆ ประเทศ สามารถตรวจพบแผ่นดินไหวได้บ่อยขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วแผ่นดินไหวเหล่านี้เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ซึ่งในภาวะปกติแล้วค่อนข้างที่จะทำการตรวจจับได้ยาก เนื่องมาจากว่าหลักการตรวจวัดแผ่นดินไหวนั้น เครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวต้องวางอยู่บนพื้นดินเพื่อวัดการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่เกิดจากแผ่นดินไหว ดังนั้นการที่เมืองทั้งเมืองถูกปิด หรือ ล็อกดาวน์ ผู้คนสัญจรบนถนนหนทางและทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะกันน้อยลงจึงทำให้สัญญาณรบกวนการวัดแผ่นดินไหวก็น้อยลงตามไปด้วย เช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 มีรายงานการตรวจพบแผ่นดินไหวใกล้กับกรุงเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ขนาด 3.8 ที่ความลึก 10 กิโลเมตร โดยมีระยะห่างจากใจกลางเมืองหลวงเพียง 8 กิโลเมตร โดยปกติแล้วเปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา หากเรากำลังสัญจรเดินทางกันอยู่ เช่น ขับรถ หรือ เดินอยู่นอกอาคาร เราจะไม่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนขนาดเล็ก แต่เมื่อชาวเมืองเดลีหยุดเดินทางไปทำงานและกิจกรรมนอกบ้าน ทำงานที่บ้าน หรือ อาศัยอยู่แต่ในบ้าน จึงทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในกรุงเดลี สามารถรู้สึกถึงแผ่นดินไหวนี้ได้
หากเปรียบเทียบปี 2563 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 ที่เคยเกิดในบริเวณใกล้กรุงเดลี มีผู้รายงานความรู้สึกรับรู้การสั่นไหวจำนวนเพียง 32 รายงาน แต่ในเดือนสิงหาคม 2564 แผ่นดินไหวขนาด 3.8 เมื่อช่วงล็อกดาวน์ มีจำนวนคนรายงานเหตุการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 242 รายงาน ซึ่งช่วยยืนยันได้ว่า มีการตรวจวัดได้เพื่มขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นถี่ขึ้น แต่เป็นเพราะสัญญาณรบกวน หายไปนั่นเอง
ในช่วง 2 ปี ตัวอย่างเมืองหลายๆ แห่งในโลกที่ได้รับทั้งผลกระทบรุนแรงจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว หรือจะเรียกว่าภัยพิบัติซ้ำซ้อนก็ได้ เช่น แผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.0 ในทะเลอีเจียน ซึ่งคั่นระหว่างตุรกีกับกรีซในวันที่ 30 ต.ค.2563 ทำให้เมืองชายฝั่งของสองประเทศเสียหาย มีผู้เสียชีวิต 14 คน เกิดคลื่นสูงระดับ "มินิสึนามิ" พัดกระหน่ำ น้ำทะเลยกสูงที่พัดเข้าชายฝั่งทำให้ถนนสายต่างๆ กลายเป็นแม่น้ำไหลเชี่ยว ด้านญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวในจังหวัดฟูกูชิมะ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดนอกชายฝั่งทางตะวันออกของโทโฮกุ ขนาด 7.1 ถึง 7.3 แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่ง 60 กิโลเมตร มีความลึกราว 51.9 กิโลเมตร หลังแผ่นดินไหวครั้งนี้ก็เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้งภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง โดย 3 ครั้งมีขนาดเกิน 5.3 แมกนิจูด มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 186 คน ไฟดับมากกว่า 9 แสนครัวเรือน อาคารหลายแห่งได้รับความเสียหาย
สิ่งที่ไม่คาดฝันทำให้ชาวโครเอเชียตื่นตระหนก เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใกล้ กรุงซาเกร็บ เมืองหลวงของประเทศโครเอเชีย ขนาด 6.3 เมื่อ 22 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 140 ปีของเมือง ทำให้อาคารได้รับความเสียหาย เกิดเพลิงไหม้หลายแห่ง ประชาชนวิ่งหนีออกมาอยู่บนท้องถนน เด็กวัย 15 ปีโดนอาคารถล่มทับเสียชีวิต
ในเมียนมา ลาวและภาคเหนือของไทยมีหลายรอยเลื่อน เมื่อเร็วๆนี้ แผ่นดินไหวขนาด 4.8 จากรอยเลื่อนหงสา ในสปป.ลาว เมื่อวันที่ 7 กค 2564 ที่ระดับความลึก 1 กิโลเมตร ซึ่งประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดของไทย คือ น่าน พะเยา และเชียงราย พบว่าสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหาย ทั้งนี้รอยเลื่อนหงสาในลาวเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.4 ซึ่งสร้างความเสียหายในปี 2562 มาแล้ว
ภัยอันน่าเศร้าสลดล่าสุด วันที่ 14 สิงหาคม 2564 แผ่นดินไหวขนาด 7.2 ที่ประเทศเฮติ ทำให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหายนับพันหลัง มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดในบริเวณแหล่งอาศัยที่ผู้คนไม่หนาแน่นเท่ากับในเมืองหลวงปอร์โตแปร็งซ์ (Port-au-Prince) จึงทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าแผ่นดินไหวที่เคยเกิดในเฮติเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเป็นอย่างมาก
รศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะวิศวะมหิดล กล่าวว่า ดังนั้นสำหรับประเทศไทย ในแผนการเตรียมความพร้อมรับมือภาวะโรคระบาดโควิด-19 ควรคำนึงถึงภัยพิบัติซ้ำซ้อน จากภัยธรรมชาติประเภทอื่นๆที่ยังเกิดขึ้นตลอดเวลาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยแผ่นดินไหวซึ่งไม่มีคำเตือนล่วงหน้าและอาจจะย้อนกลับมาหาเราได้ทุกเมื่อเช่นกัน หากเราลืมมันไป
สำหรับการเตรียมการรับมือเกิดภัยพิบัติซ้ำซ้อนในระดับพื้นที่ สามารถดำเนินการอย่างประสานสอดคล้องกันซึ่งครอบคลุมทั้งภัยธรรมชาติและโควิด-19 เป็นการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ ความรุนแรงและการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินและพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน เช่น
1.ซักซ้อมความร่วมมือกับหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง จัดทำข้อมูลแผนที่ชุมชน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนป่วยติดเตียง ข้อมูลการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดภัย เป็นต้น
2.เตรียมความพร้อมแหล่งข้อมูลและซัพพลายเชนด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีในการกู้ภัย การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้มากขึ้นกว่าเดิม
3.วิเคราะห์และวางแผนจุดอพยพ จุดปลอดภัย สถานที่พักพิง ในมิติที่ครอบคลุมผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงผู้สัมผัสคนติดเชื้อ กลุ่มเปราะบาง ที่อาจจำเป็นต้องย้ายที่อยู่
4.ใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารมาสร้างระบบเชื่อมโยงระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการภัยพิบัติมีประสิทธิภาพ ข้อมูลในพื้นที่มีความแม่นยำ และได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนและทุกฝ่าย
5.ประสานเครือข่ายและหน่วยงานในการบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านสุขภาพกายและใจ ปัจจัยสี่ คมนาคมขนส่ง การให้คำแนะนำแก่ประชาชน