สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามความร่วมมือกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ภายใต้โครงการ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน" ส่งเสริมนำงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะชุมชนอย่างครบวงจร หวังสร้างต้นแบบศูนย์คัดแยกขยะใช้แล้วและแปรรูป "Waste Sorting Hub" โดยชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออก เล็งขยายผลไปยังชุมชนทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย BCG ของประเทศ ด้วยการบริหารจัดการขยะพลาสติกโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ความร่วมมือระหว่าง วว. และกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ภายใต้โครงการ "วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน" มีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ผ่านการดำเนินงาน 5 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย 1) ยกระดับศูนย์คัดแยกพลาสติกใช้แล้วเพื่อพัฒนาร้านรับซื้อของเก่าด้วยชุมชน โดยเน้นการจัดการพลาสติกใช้แล้ว รวมถึง เทคโนโลยีการแปรรูปขยะเศษอาหารและของเหลือทิ้งภาคการเกษตร โดยจะนำร่องที่จังหวัดระยอง 2) สร้างมาตรฐานพลาสติกรีไซเคิลโดยวิธีการและเครื่องมือ เพื่อตรวจสอบและตรวจวัดคุณภาพพลาสติก เช่น การตรวจสอบความหนาแน่น / วิธีตรวจวัดโดยชุมชน 3) พัฒนาหลักสูตรด้าน "การจัดการขยะให้เป็นศูนย์" เน้นการจัดการองค์ความรู้ ด้านการจัดการขยะด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน 4) การใช้เครื่องมือ online เน้นการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการที่มีความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรม และ 5) ถอดบทเรียนความสำเร็จการจัดการขยะชุมชนที่สำเร็จ เพื่อทำเป็นคู่มือสำหรับนำไปขยายผลในชุมชนอื่นๆต่อไป
"จากความสำเร็จของ วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีจัดการขยะชุมชน จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนอาคารคัดแยกขยะตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี หรือ "ตาลเดี่ยวโมเดล" เป็นรูปแบบของการบริหารจัดการขยะที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูปซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง โดยมีเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน ได้แก่ 1.ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ ประกอบด้วย 1.เครื่องคัดแยกขยะรองรับปริมาณขยะเก่าและขยะใหม่กำลังการผลิต 20-40 ตันต่อวัน พร้อมด้วยระบบกำจัดกลิ่นขยะ ระบบคัดแยกชนิดและสีพลาสติกบรรจุภัณฑ์ เพื่อแปรรูปเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดมลพิษทางน้ำ และระบบการบำบัดน้ำชะขยะโดยใช้สารเร่งตกตะกอนจากผลงานวิจัยของ วว. ระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารปรับปรุงดิน 2. ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกกำลังการผลิต 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision สามารถแยกพลาสติก PVC ออกจากพลาสติกชนิดอื่นได้ และผลิตเกล็ดพลาสติกที่สะอาดมีคุณภาพ และ 3. นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพร่วมกับสารปรับปรุงดิน ประกอบด้วยระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดถัง ระบบผลิตสารปรับปรุงดินชนิดน้ำ และระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะคุณภาพสูง (RDF5) จากขยะชุมชนและของเหลือทิ้งภาคการเกษตร นอกจากนี้ วว. ยังได้ยังพัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application) ที่สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมการจัดการขยะระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลับคืนสู่ชุมชน
"? วว.จะนำองค์ความรู้งานวิจัยและการจัดการขยะแบบครบวงจรไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการใช้เครื่องมือ เช่น แอพพลิเคชันและเทคโนโลยีคัดแยกและแปรรูปขยะชุมชน ขยะอินทรีย์ และของเหลือทิ้งภาคการเกษตร ให้แก่ชุมชน และ อปท.ในจังหวัดระยอง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยหวังเป็นอย่างยิ่ง ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานจะก่อให้เกิดชุมชนต้นแบบที่เป็น Waste sorting hub และในอนาคตและยกระดับเป็นสถานีการจัดการขยะชุมชนที่เป็น Junk Shop นับเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบาย BCG และ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ด้วยการบริหารจัดการพลาสติกด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยลดปัญหาขยะชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน? " ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติม
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าปริมาณขยะในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 15% โดยปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยจากวันละ 5,500 ตัน เพิ่มเป็น 6,300 ตันต่อวัน แต่สามารถนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้เพียง 23% เท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันขยะพลาสติกหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม และลดปัญหาการสะสมขยะในชุมชน รัฐบาลจึงได้มีเป้าหมายในการนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล 100% ภายในปี 2570 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน Dow และ วว. จึงได้นำความเชี่ยวชาญของทั้งสององค์กรมาบูรณาการร่วมกัน โดยจะนำความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์และประสบการณ์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนของ Dow มาผสานกับองค์ความรู้ด้านทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ วว. โดยเริ่มจากการต่อยอดในชุมชนต้นแบบที่ทั้งสององค์กรได้เคยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ก่อนจะขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ในอนาคต
"ในสถานการณ์ที่โลกมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด แต่มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนจะต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ รวมทั้งต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เราสามารถใช้ทรัพยากรที่มีค่าได้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้ซ้ำได้เป็นวงจรไม่รู้จบ โดยเฉพาะพลาสติกใช้แล้ว โครงการนี้สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ Dow ได้ประกาศไปเมื่อปีที่แล้วคือ "การหยุดขยะพลาสติก" โดยเราตั้งเป้าจะผลักดันให้พลาสติกที่ใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลกถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิล ทั้งผ่านกิจกรรมที่ Dow ดำเนินการเอง และโครงการความร่วมมือ"นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย กล่าวเพิ่มเติม