คนไทย โดยเฉพาะเด็กไทย ยังกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอตามเกณฑ์แนะนำ แม้ผลการศึกษาจะพบว่าคนไทยกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงกินไม่ถึงตามเกณฑ์ที่แนะนำในแต่ละวัน โดยในปี 2562 พบคนไทยโดยรวมถึงร้อยละ 62.5 หรือกว่า 2 ใน 3 คน ที่กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ขณะที่เด็กวัยเรียน (6-9 ปี) มีเกือบร้อยละ 80 ที่กินไม่เพียงพอ
เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ได้เพิ่มความท้าทายในการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการกินผักและผลไม้ เมื่อพบว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยกลุ่มที่มีรายได้น้อยกินผลไม้ลดลงถึงร้อยละ 47.1 เหตุผลสำคัญ คือ มีเงินไม่พอซื้ออาหาร โดยคนไทยกลุ่มนี้ ร้อยละ 53.7 มีอาหารไม่พอรับประทาน เพราะมีเงินไม่พอ
เพื่อให้คนไทยเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์อย่างทั่วถึงและดีต่อสุขภาพ ซึ่งผักและผลไม้ก็มีคุณสมบัติครบตามที่ต้องการ และยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบอาหารที่จะช่วยพัฒนาประเทศได้ครอบคลุมทุกมิติ ทางองค์กรภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ผนึกกำลังร่วมกันทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้งสามหน่วยงานมีภารกิจชัดเจนที่ต้องขับเคลื่อนเรื่องอาหารอยู่แล้ว อย่างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ได้ได้กำหนดเป้าหมายว่า ใน 5 ปีข้างหน้า (ภายใน พ.ศ.2568) ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤตได้ และยังกำหนดให้ความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2564 ด้วย
ขณะที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.ได้มีความพยายามส่งเสริมให้มีการบริโภคผัก-ผลไม้ให้เพียงพอ และผลักดันให้ผักเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ก็มีพันธกิจเกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารโดยตรง และเป็นแม่งานใหญ่ในการเตรียมประเทศไทยสู่เวทีประชุมสุดยอดระบบอาหารแห่งสหประชาชาติปี 2564 UNFSS หรือ UN Food Systems Summit 2021 ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่ผู้นำแต่ละประเทศจะได้พูดถึงนโยบายด้านอาหารของประเทศตัวเองให้ผู้นำคนอื่นๆ ฟัง
อย่างไรก็ตามทั้งสามหน่วยงานตระหนักดี ว่าระบบการบริหารจัดการของรัฐ (governance) ถือเป็นจุดคานงัดสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนไทย ส่งเสริมการกินผักและผลไม้ที่เพียงพอ เสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และนำพาประเทศบรรลุยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ให้เร็วยิ่งขึ้น
"การที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับสช. สสส. และภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนให้ผักเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากจะช่วยให้สุขภาพของเราจะดีขึ้นแล้ว ระบบอาหารของเราก็จะดีขึ้นด้วย เพื่อจะได้บรรลุ SGDs ภายในปี 2573 โดยเรามีเป้าหมายว่า เราจะหยุดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงภาวะโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน" ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวยืนยันถึงภารกิจสำคัญที่ต้องผนึกกำลังกันขับเคลื่อนเรื่องอาหาร
ดร.นพ.ไพโรจน์ ย้ำว่า สถานการณ์ในการกินผักอย่างเพียงพอ คือ 400 กรัมต่อคนต่อวันของคนไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 37% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก แต่ยังต้องรณรงค์กันต่อไป เพื่อให้หันมากินผักให้มากขึ้นกว่านี้และยั่งยืนมากกว่านี้ ขณะเดียวกันผักยังช่วยสร้างรายได้ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
เป้าหมายในระยะสั้นที่ สสส.พยายามผลักดันคือการบรรจุเรื่องของการกินผัก หรือให้ผักเป็นวาระแห่งชาติให้อยู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการร่างแผน หากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเห็นด้วย หรืออย่างน้อยระบุเรื่องเกี่ยวกับระบบอาหารในแผน ก็อาจทำให้แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายที่แท้จริงเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากขึ้น
ความพยายามผลักดันให้ระบบอาหารเป็นนโยบายระดับชาติบางทีอาจจะต้องให้เวทีระดับโลกอย่าง UNFSS เป็นสปริงบอร์ดช่วยให้ระดับนโยบาย "เอาด้วย" กับสิ่งที่ทั้ง 3 หน่วยงานผลักดัน นั่นคือให้คนไทยเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์อย่างทั่วถึงและดีต่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้องค์กรรัฐอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดกรอบการทำงานใน 5 เป้าหมาย โดยให้คำจำกัดความว่า "อิ่มดี" ประกอบด้วย อิ่มดีถ้วนหน้า อิ่มดีมีสุข อิ่มดีรักโลก อิ่มดีทั่วถึง และ อิ่มดีทุกเมื่อ เพื่อการสร้างระบบอาหารให้ยั่งยืนในปี 2030
คำว่า "อิ่มดี" ของกระทรวงเกษตรฯ นี้ สอดคล้องกับการขับเคลื่อนของสหประชาชาติเกี่ยวกับระบบอาหารใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการโดยถ้วนหน้า 2.ปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน 3.การส่งเสริมระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.ส่งเสริมความเสมอภาคในการดำรงชีวิตและมีกระจายคุณค่าอย่างเท่าเทียม และ 5.การสร้างความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤตโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง นั่นเอง
ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานหลักของประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ระบบอาหารในประเทศอาจจะใช้คำว่า "พลิกโฉม" ก็ได้ เพราะขณะนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ต้องการจะเผยโฉมประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามที่เลขาธิการสหประชาชาติประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2562 ที่จะขจัดความยากจนให้หมดไป โดยมองว่าระบบอาหารมีความเปราะบางและเกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นถ้าสามารถพลิกโฉมเรื่องระบบอาหารให้ยั่งยืนแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะได้เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ได้
ผอ.วนิดา ตั้งความหวังไว้สูงมากว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ก็จะเป็นการพลิกโฉมประเทศไทย ซึ่งแผนดังกล่าวนี้จะครอบคลุมทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เกษตร ซึ่งจะเป็นการนำนโยบายจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีสู่การปฏิบัติ เป็นกรอบการทำงานของภาครัฐ เพราะต้องโยงกับแนวทางการทำงานและงบประมาณในแต่ละปีด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีการเชื่อมโยงกับภาคีที่ร่วมกันผลักดัน เพื่อให้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นแผนฯที่พลิกโฉมประเทศไทยให้ได้
"สำหรับการประชุม UNFSS ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 กันยายนนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมพอสมควร ซึ่งเราต้องยืนยันว่าเราจะพลิกโฉมของประเทศไทยได้อย่างไรภายใต้เป้าประสงค์ 5 ด้านที่สหประชาชาติกำหนด" ผอ.วนิดา กล่าว
การ "พลิกโฉม" หรือ Transforming ตามที่สหประชาชาติต้องการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 หากเกิดขึ้นจริง องค์ประกอบสำคัญคือนโยบายภาครัฐจะต้องชัดเจนและจริงจัง ซึ่งประเด็นนี้ ตัวแทนภาคประชาชนอย่าง ทัศนีย์ วีระกันต์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า บนเวที UNFSS รัฐบาลไทยต้องไปแสดงท่าที ว่าไทยจะทำอะไรบ้าง ซึ่งถือเป็นการให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกและคนไทยด้วย เวทีนี้จึงมีความสำคัญ เพราะจะส่งผลถึงระบบอาหารของไทยในอนาคต
ต้องติดตามกันต่อไป ว่าทิศทางชัดเจนเกี่ยวกับระบบอาหารของประเทศจะไปในทิศทางไหน