เครือซีพีพร้อม 3 กลุ่มธุรกิจ ซีพีเอฟ-ทรู-ซีพีออลล์ รับรางวัลการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (LCSi) ประจำปี 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 21, 2021 09:51 —ThaiPR.net

เครือซีพีพร้อม 3 กลุ่มธุรกิจ ซีพีเอฟ-ทรู-ซีพีออลล์ รับรางวัลการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (LCSi) ประจำปี 2564

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จัดงานสัมมนาออนไลน์ "แนวทางการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ที่คาร์บอนต่ำและยั่งยืน" พร้อมประกาศผลการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ประจำปี 2564" โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทในเครือฯได้รับรางวัลโล่ประกาศเกียรติคุณการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (LCSi) ประจำปี 2564 ประกอบด้วย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลระดับโดดเด่น บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลระดับยอดเยี่ยม ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวเป็นการเชิดชูเกียรติให้กับ 14 องค์กรที่ได้ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดการประเมินและจัดระดับธุรกิจที่มีการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กรธุรกิจอื่นในการร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน ลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน

ในการนี้ นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนรับมอบรางวัลของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด พร้อมกล่าวประกาศเจตนารมณ์ของเครือฯ ว่า เครือซีพีขอแสดงความมุ่งมั่นต่อการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยเครือฯ และบริษัทในเครือฯ ได้ประกอบธุรกิจภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และยึดมั่นในค่านิยม 3 ประโยชน์ ที่มุ่งสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อประเทศชาติในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลก และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นวาระระดับโลก เครือฯจึงมีความมุ่งมั่นในการนำธุรกิจทั้งหมดบรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน โดยที่ผ่านมาได้ประกาศเจตนารมณ์ "ปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์" หรือ Race to Zero ของสหประชาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายคือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก อย่างไรก็ตามเครือฯได้ขอร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ เริ่มตั้งแต่การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือ ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าและป่าชายเลนเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว โดยตั้งเป้าหมายปลูกต้นไม้ 20 ล้านต้นภายในปี 2568 ตลอดจนการสรรหาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เครือฯ ได้มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดรวมถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยตั้งเป้าหมายการลดขยะอาหารและของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ ภายในปี 2573 โดยการเปลี่ยนของเสียให้นำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ประโยชน์ได้

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจในการผลิตอาหารที่ดีและปลอดภัยให้กับคนทั่วโลก จึงจำเป็นต้องร่วมมือทุกภาคส่วนในการปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยองค์กรมีเป้าหมายร่วมกับนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 เน้นให้พนักงานในองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องร่วมลงมือทำจริงและต้องทำอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ซีพีเอฟพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเครือข่ายภาคธุรกิจที่จะช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายและความท้าทายไปด้วยกัน

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพีออลล์ ได้ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของบรรษัทภิบาลมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาได้ดำเนินการผ่านนโยบาย 7 go green ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติรวมทั้งยังได้สร้างความร่วมมือผ่านเครือข่ายต่างๆ หลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนตามเป้าหมายของเครือฯ ในการนำองค์กรสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อสังคม ชุมชน และประเทศชาติอย่างยั่งยืน

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มทรูได้กำหนดเป้าหมายการเป็นองค์กรที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของเครือฯและมุ่งสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยการดำเนินการที่สำคัญของกลุ่มทรู อาทิ การเลือกใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ที่สถานีฐานได้ติดตั้งไปแล้ว 3,200 แห่งทั่วประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ระบบปรับอากาศ การใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน เป็นต้น รวมทั้งมีการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างสรรค์โซลูชั่นใหม่ๆ จากนี้ไปกลุ่มทรูจะเดินหน้าขยายการติดตั้งโซลาร์เซลล์อย่างต่อเนื่องร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างพลังงานสะอาดให้มากขึ้น ตลอดจนการส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงนำ Internal Carbon Pricing มาตัดสินใจดำเนินโครงการต่างๆ ทั้งนี้ ขอขอบคุณ อบก.และทุกภาคส่วนในการสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนกว่าไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดเสวนาในหัวข้อ "เส้นทางลัดสู่ความสำเร็จ การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน" โดย นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมเวทีเสวนา พร้อมกับ ดร.ณัฐกร ไกรกุล บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) นาวสาวเยาวลักษณ์ ชูโชติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และดร.ศรุดา ศิริภัทรปรีชา บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) โดยนายสมเจตนา กล่าวว่า เส้นทางในการดำเนินงานธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หัวใจสำคัญคือบทบาทผู้นำมีส่วนสำคัญในการมุ่งมั่นขับเคลื่อนดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยมีการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการผนึกกำลังของพนักงานในองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ 14 กลุ่มธุรกิจในทั่วโลก ในการรวมกันบรรลุเป้าหมายการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม ตลอดจนต้องมีการสื่อสารและการวัดผล การสร้างเครื่องมือการจัดหานวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน สิ่งดังกล่าวจะทำให้เกิดการบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ