วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) สำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชน "โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย แนะยึดหลัก 3 ป." ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับประเด็นสารรณรงค์ในปีนี้ คือ "กลัวโควิด อย่าลืมพิษสุนัขบ้า ไม่ตระหนก แต่ต้องตระหนัก" (Rabies: Facts Not Fear)
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 ในระหว่างปี 2562-2564 (ข้อมูล จากระบบรายงาน 506 กองระบาดวิทยา ณ วันที่ 21 กันยายน 2564) ว่า ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต แต่จากรายงานสถานการณ์สัตว์ติดเชื้อยืนยันโรคพิษสุนัขบ้า ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 สิงหาคม 2564 (ข้อมูลจากhttp://www.thairabies.net) พบสัตว์ติดเชื้อยืนยันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 21 ตัว ได้แก่ สุนัข 17 ตัว โค 4 ตัว โดยพบในจังหวัดสงขลา 13 ตัว จังหวัดพัทลุง 7 ตัว และจังหวัดตรัง 1 ตัว ทั้งนี้ ผู้สัมผัสสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จำนวน 86 ราย ได้รับวัคซีนครบทุกราย
ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้น เนื่องในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ประจำปี 2564 ได้กำหนดประเด็นสารรณรงค์ "กลัวโควิด อย่าลืมพิษสุนัขบ้า ไม่ตระหนก แต่ต้องตระหนัก" (Rabies: Facts Not Fear) โดยประชาชนสามารถติดตามการจัดกิจกรรมรณรงค์ในรูปแบบ New Normal ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก
สคร.12 สงขลา แนะพี่น้องประชาชนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า ยึดหลัก 3 ป. คือ ปอที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค โดยการนำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี รวมไปถึงทำหมันถาวรเพื่อไม่ให้มีสุนัขมากเกินความต้องการ และหากสัตว์เลี้ยงตายผิดปกติ ขอให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อ ปัจจุบันส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ
ปอที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด โดยไม่ปล่อยสุนัขแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดด้วยคาถา 5 ย. คือ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
ปอที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด ด้วยการล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ อย่างเบามืออย่างน้อย 10 นาที จากนั้น ใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล (เบตาดีน) และรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหากได้รับวัคซีนต้องฉีดวัคซีนให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด พร้อมทั้งกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เน้นย้ำ "ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ"
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค