กระแสด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปัจจุบัน ถูกเพ่งเล็งจากสังคมและภาคส่วนต่าง ๆ กิจกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นร้อนอยู่บ่อยครั้ง คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐนตรี ในฐานะประธานกรรมการ ได้จัดประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2564 ในวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ห้อง301 ทำเนียบรัฐบาลโดยมีมติสำคัญในการผลักดันมาตรการทางกฎหมายจำนวน 11 ฉบับ พร้อมย้ำประชาชนคือพลังขับเคลื่อนในการร่างกฎหมายทุกฉบับ เผยประเทศไทยเตรียมเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์มหาสมุทรที่ยั่งยืน ในปี 2564 นี้
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการฯ วันนี้ (27 กันยายน 2564) มีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากอาจส่งผลกระทบในภาพกว้าง อีกทั้ง ยังสะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศสู่สายตานานาชาติ ซึ่งต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนและตัวทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งตนต้องขอขอบคุณคณะกรรมการทุกท่าน ที่ช่วยกันพิจารณาและกลั่นกรองทุกเรื่องอย่างละเอียดรอบคอบ โดยในการประชุมครั้งนี้นับว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้น ที่รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนที่ช่วยกันคิดและกลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรองกว่า 11 ฉบับ ที่จะช่วยอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึง ป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่สำคัญของประเทศ เช่น การประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง 4 พื้นที่ ในจังหวัดตราด จันทบุรี และประจวบคีรีขันธ์ การกำหนดมาตรการคุ้มครองใน 4 พื้นที่ ในจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และระยอง การกำหนดมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 3 พื้นที่ ในจังหวัดชลบุรี ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งกฎหมายลำดับรองทุกฉบับเกิดจากการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในทุกขั้นตอน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะบรรลุผลและมีความเห็นร่วมกันให้ออกกฎหมายดังกล่าว โดยที่ผ่านมา ตนต้องขอขอบคุณนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ ที่ช่วยเร่งรัดและกำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จนสามารถดำเนินการได้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งความสำเร็จต่าง ๆ จนเห็นเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ช่วยดูแลและรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในวันนี้ได้มีการสรุปสถานการณ์ภาพรวม พบว่า ปีที่ผ่านมาผลการสำรวจป่าชายเลนเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนไร่ ชายฝั่งทะเลได้รับแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งกว่า 700 กิโลเมตร ทรัพยากรทางทะเลสมบูรณ์ขึ้น พบการวางไข่ของเต่าทะเลเพิ่มขึ้น สัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้น และในปี 2564 นี้ ประเทศไทยยังจะเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการจัดการเปิดตัวทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2021 - 2030 พร้อมตั้งสำนักงานประสานงานในประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว สุดท้าย ตนอยากฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคนว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงทุ่มเททำงานเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยยึดประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ และจะเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้เกิดความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด พลเอก ประวิตร กล่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุม