Mitsubishi Electric ร่วมกับ EEC และพันธมิตรเครือข่าย ผสานพลังความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น จัดแถลงผลงานการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เดินหน้าใช้ Ecosystem สนับสนุนการใช้ระบบ e-F@ctory เพื่อการสร้างสรรค์โซลูชั่น และการเติมเต็มความรู้ของบุคลากร ผ่าน EEC Automation Park พร้อมเชื่อมโยงกลุ่ม e-F@ctory Alliance ในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนากระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่จะลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า และเพิ่มทักษะแรงงานเพื่อนำไปสู่ Industry 4.0 อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรกว่า 58 บริษัท กระจายครอบคลุมไปในทุกๆ อุตสาหกรรม
ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวโดยสรุปว่า "ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในการผลักดันการใช้ Automation เพื่อพัฒนา Smart Factory 4.0 ในไทยเป็นไปอย่างเข้มแข็ง นำโดย Mitsubishi Electric ที่ริเริ่มแนวคิด e-F@ctory Alliance พร้อมพันธมิตรเครือข่ายร่วมพัฒนา EEC Automation Park ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics & Automation สร้างความเชี่ยมโยง Ecosystem เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิต เกิด Industry 4.0 ขึ้นจริงในพื้นที่ EEC และเป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve อาทิ 5G, Digital, Smart Factory, Data Center, Cloud Services, Digital Platforms ซึ่งคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิดลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในพื้นที่ EEC ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานใน EEC จัดเตรียมความพร้อมสำรวจการออกแบบระบบ และเชื่อมหาแหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และตั้งเป้าภายใน 5 ปีจะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยกระดับรายได้แรงงานไทย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน"
ด้านนายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO เผยถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐของไทยและภาคเอกชนของญี่ปุ่นว่า "ในส่วนของ JETRO มีการดำเนินโครงการ "JETRO Robot Automation Project" ซึ่งได้มีการจัดตั้งเว็บไซต์พิเศษเพื่อแนะนำบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้คู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร การสัมมนาออนไลน์ และการประชุมทางธุรกิจ ส่วนทางด้านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและไทยได้มีการเปิดตัวโครงการ "LIPE (Lean IoT Plant management & Execution)" ตั้งแต่ปีที่แล้ว และนอกจากนี้ก็ยังมีการสนับสนุนเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยผ่านทางภาครัฐและเอกชน ผ่านความร่วมมือระหว่าง JETRO และ EEC ในด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยมี EEC Automation Park ที่อยู่ในพื้นที่ EEC เป็นฐานความร่วมมือที่สำคัญ ซึ่ง Mitsubishi Electric เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ที่ยาวนานในระบบอัตโนมัติในโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยเทคโนโลยีและความรู้ของญี่ปุ่นจะเผยแพร่สู่ประเทศไทย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า EEC Automation Park จะสามารถส่งเสริมและผลักดันเกี่ยวกับการปรับใช้ระบบอัตโนมัติของโรงงานและการเพิ่มผลผลิตในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี"
สำหรับในส่วนของ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ เผยว่า "บริษัทฯ ได้นำระบบสายการผลิตอัจฉริยะ หรือ e-F@ctory เข้ามาใช้ในการสนับสนุน และผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยใช้นวัตกรรมขั้นสูงในประเทศไทยด้วยเชื่อว่า Key Success สำหรับการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ประกอบด้วย 3 ฟันเฟืองหลัก ได้แก่ 1. Machine Automation 2. Digital Engineering และ 3. Human Knowledge การได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษาทำให้เป้าหมายสำเร็จลุล่วงไปได้ระดับหนึ่งแล้วที่ EEC Automation Park และพร้อมจะต่อยอดความสำเร็จต่อไปด้วยการสร้าง Ecosystem เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมไทย และจะเป็นก้าวแรกที่มั่นคงสำหรับการนำพาอุตสาหกรรมไทยให้สามารถเข้าสู่การพัฒนา Digital Manufacturing Platform อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในยุค Digital และยังเป็นแรงเสริมให้กับนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะ EEC ในการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับ 10S Curve บวกอีก 2S Curve สำหรับประเทศไทยต่อไป"
ดร. อภิชาติ ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) กล่าวถึงการพัฒนาบุคลากรว่า "EEC-HDC ได้ดำเนินงานร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัย 40 วิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ EEC และมหาวิทยาลัยนอกเขต EEC อีก 20 มหาวิทยาลัย โดยพุ่งเป้าผลิตบุคลากรด้านออโตเมชั่นตามโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ดิจิทัล โรโบติกส์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ และโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นที่ต้องการตามแผนการลงทุนใน EEC ใน 5 ปีนี้ โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับ Mitsubishi Electric และเครือข่ายพันธมิตร ร่วมกันสร้างฐานความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการปรับสร้างศักยภาพบุคลากรด้านนี้ขึ้น ผ่านความร่วมมือกับศูนย์ EEC Automation Park มหาวิทยาลัยบูรพา และศูนย์ปฏิบัติการเรียนด้านออโตเมชั่นในวิทยาลัยระดับอาชีวะทั้งภาครัฐและเอกชนควบคู่กันไป และดำเนินการผลิตบุคลากรไปแล้ว รวมทั้งสิ้นกว่า 40,000 คน มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากรในการอบรมระยะสั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 133 หลักสูตร เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ และกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใน EEC มากกว่า 130 บริษัท"
นอกจากนี้ EEC Automation Park ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้าน Robotics, Automation ผ่านกลไกการขับเคลื่อนโดย EEC-HDC ศูนย์เครือข่าย EEC Net และการส่งเสริมให้มีการรับรองทักษะตามมาตรฐานสากล (Skill Qualification) เพื่อให้มีทักษะและผลิตภาพแรงงาน หรือ Labor Productivity สูงขึ้นด้วยมาตรฐานสากล ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก โดยตั้งเป้าอย่างน้อย 2,000 คน/ปี หรือ 15,000 คนภายใน 5 ปี
ด้าน ดร. ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC Automation Park กล่าวสรุปความคืบหน้าในการดำเนินโครงการในส่วนต่าง ๆ ว่า "EEC Automation Park เป็นศูนย์เครือข่ายความร่วมมือด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิทัล เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) และยังจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 25 หลักสูตร รวมถึงการให้บริการข้อมูลฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ในรูปแบบ Business Matching โดยใช้ผลิตภัณฑ์จากบริษัทในกลุ่มพันธมิตรเพื่อให้เกิดการนำไปใช้พัฒนาอุตสาหกรรมได้จริง รวมถึงบริการด้านการให้คำปรึกษาการปรับปรุงการผลิตแก่ภาคอุตสาหกรรม การจัดหาแหล่งทุน และบริการพื้นที่ Industrial Sandbox เพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ่านความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะ Thailand Digital Valley ของทาง DEPA และ EECi/SMC ของทาง NECTEC เพื่อสนับสนุนกิจกรรมกับภาคอุตสาหกรรมในการทดลองก่อนผลิตเชิงพาณิชย์ โดยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นี้ จะเปิดให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และรวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเริ่มเข้ามาเยี่ยมชมได้ โดยหวังว่า EEC Automation Park แห่งนี้จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของภาครัฐ"
นอกจากนี้ นายบวร เทียนสวัสดิ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาโครงการและกลุ่มพันธมิตร กล่าวถึงภาพรวมในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตตามแนวทาง e-F@ctory และหลักการ SMKL - Smart Manufacturing Kaizen Level ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศในรูปแบบ Ecosystem ว่า "Mitsubishi Electric และกลุ่ม e-F@ctory Alliance ได้ร่วมกัน เป็นที่ปรึกษาในการนำโซลูชั่นต่าง ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน ปัจจุบันมีพันธมิตรเข้าร่วมกลุ่ม e-F@ctory Alliance เพื่อพัฒนาสินค้าและโซลูชั่นกว่า 900 บริษัท มีการนำโซลูชั่นไปใช้จริงแล้วมากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยนั้นเราริเริ่มโครงการ e-F@ctory Alliance ในปี 2019 โดยในปัจจุบันมีพันธมิตรกว่า 58 บริษัท ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการในความต้องการพัฒนากระบวนการผลิต ไปสู่ Industry 4.0 โดยโครงการ e-F@ctory Alliance นั้น เราได้แบ่งกลุ่มพันธมิตรออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ Software Partner, Device Partner และ System Integration Partner เรามีการทำงานร่วมกัน แบ่งปันเทคโนโลยี ความรู้ และพัฒนาโซลูชั่นเพื่อนำเสนอให้กับภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้เรายังมีพันธมิตรส่วนเสริมอื่น ๆ อีก เช่น Education Partners ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับความรู้ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นหัวใจหลักตามแนวทางของ e-F@ctory + SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level)"
ปัจจุบัน Mitsubishi Electric ร่วมกับพันธมิตร (e-F@ctory's alliance) ในการพัฒนาโซลูชั่นต่าง ๆ ซึ่งมีหลายส่วนพร้อมแล้วที่จะให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้งานได้จริง ตัวอย่างเช่น 5G Remote Solution, Automated Mobile Robot (AMR), Automated Storage and Retrieval System (AS/RS) หรือ การเชื่อมต่อระบบ IT กับ OT โดยมี Cyber Security นอกจากนี้ยังมีโรงงานพันธมิตรที่พัฒนาการผลิตตามแนวทาง e-F@ctory และ SMKL (Smart Manufacturing Kaizen Level) โดยปรับใช้โซลูชั่นจากกลุ่มพันธมิตร (e-F@ctory Alliance) ในประเทศไทย อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามคอมเพรสเซอร์ อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น ซึ่งโรงงานพันธมิตรพร้อมที่จะต้อนรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเข้าเยี่ยมชมโรงงานและแชร์ประสบการณ์ในการนำไปปรับใช้